<< Go Back

โขน

โขน (อังกฤษ: Khon) เป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทยที่มีความสง่างาม อลังการและอ่อนช้อย การแสดงประเภทหนึ่งที่ใช้ท่ารำตามแบบละครใน แตกต่างเพียงท่ารำที่มีการเพิ่มตัวแสดง เปลี่ยนทำนองเพลงที่ใช้ในการดำเนินเรื่องไม่ให้เหมือนกับละคร แสดงเป็นเรื่องราวโดยลำดับก่อนหลังเหมือนละครทุกประการ ซึ่งไม่เรียกการแสดงเหล่านี้ว่าละครแต่เรียกว่าโขนแทน  มีประวัติยาวนานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จากหลักฐานจดหมายเหตุลาลูแบร์ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้มีการกล่าวถึงการแสดงโขนว่า เป็นการเต้นออกท่าทาง ประกอบกับเสียงซอและเครื่องดนตรีประเภทต่าง ๆ ผู้แสดงจะสวมหน้ากากปิดบังใบหน้าตนเองและถืออาวุธ

โขนเป็นจุดศูนย์รวมของศาสตร์และศิลป์หลากหลายแขนงเช่น วรรณกรรม วรรณศิลป์ นาฏศิลป์ คีตศิลป์ หัตถศิลป์ โดยนำเอาวิธีเล่นและการแต่งตัวบางชนิดมาจากการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ มีท่าทางการต่อสู้ที่โลดโผน ท่ารำ ท่าเต้นเช่น ท่าปฐมในการไหว้ครูของกระบี่กระบอง รวมทั้งการนำศิลปะการพากย์ การเจรจา หน้าพาทย์และเพลงดนตรีเข้ามาประกอบการแสดง ในการแสดงโขน ลักษณะสำคัญอยู่ที่ผู้แสดงต้องสวมหัวโขน ซึ่งเป็นเครื่องสวมครอบหุ้มตั้งแต่ศีรษะถึงคอ เจาะรูสองรูบริเวณดวงตาให้สามารถมองเห็น แสดงอารมณ์ผ่านทางการร่ายรำ สร้างตามลักษณะของตัวละครนั้น ๆ เช่น ตัวยักษ์ ตัวลิง ตัวเทวดา ฯลฯ ตกแต่งด้วยสี ลงรักปิดทอง ประดับกระจก บ้างก็เรียกว่าหน้าโขน

ในสมัยโบราณ ตัวพระและตัวเทวดาต่างสวมหัวโขนในการแสดง ต่อมาภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงไม่ต้องสวมหัวโขน คงใช้ใบหน้าจริงเช่นเดียวกับละคร แต่งกายแบบเดียวกับละครใน เครื่องแต่งกายของตัวพระและตัวยักษ์ในสมัยโบราณมักมีสองสีคือ สีหนึ่งเป็นสีเสื้อ อีกสีหนึ่งเป็นสีแขนโดยสมมุติแทนเกราะ เป็นลายหนุนประเภทลายพุ่ม หรือลายกระจังตาอ้อย ส่วนเครื่องแต่งกายตัวลิงจะเป็นลายวงทักษิณาวรรต โดยสมมุติเป็นขนของลิงหรือหมี ดำเนินเรื่องด้วยการกล่าวคำนำเล่าเรื่องเป็นทำนองเรียกว่าพากย์อย่างหนึ่ง กับเจรจาเป็นทำนองอย่างหนึ่ง ใช้กาพย์ยานีและกาพย์ฉบัง โดยมีผู้ให้เสียงแทนเรียกว่าผู้พากย์และเจรจา มีต้นเสียงและลูกคู่ร้องบทให้ ใช้วงปี่พาทย์เครื่องห้าประกอบการแสดง นิยมแสดงเรื่องรามเกียรติ์และอุณรุท ปัจจุบันสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์มีหน้าที่หลักในการสืบทอดการฝึกหัดโขน และกรมศิลปากร มีหน้าที่ในการจัดการแสดง

ที่มารูป  http://th.wikipedia.org/wiki/โขน

ประวัติ

โขนจัดเป็นนาฏกรรมที่มีความเป็นศิลปะเฉพาะของตนเอง ไม่ปรากฏชัดแน่นอนว่าคำว่า "โขน" ปรากฏขึ้นในสมัยใด แต่มีการเอ่ยถึงในวรรณคดีไทยเรื่องลิลิตพระลอที่กล่าวถึงโขนในงานแสดงมหรสพ ระหว่างงานพระศพของพระลอ พระเพื่อนและพระแพงว่า "ขยายโรงโขนโรงรำ ทำระทาราวเทียน" โดยมีข้อสันนิษฐานว่าคำว่าโขนนั้น มีที่มาจากคำและความหมายในภาษาต่าง ๆ ดังนี้

คำว่าโขนในภาษาเบงคาลี ซึ่งปรากฏคำว่า "โขละ" หรือ "โขล" (บางครั้งเขียนด้วยคำว่า "โขฬะ") [14] ที่เป็นชื่อเรียกของเครื่องดนตรีประเภทหนังชนิดหนึ่งของฮินดู ลักษณะและรูปร่างคล้ายคลึงกับตะโพนของไทย ไม่มีขาตั้ง ทำด้วยดิน ไม่มีสายสำหรับถ่วงเสียง มีเสียงดังค่อนข้างมาก จัดเป็นเครื่องดนตรีที่ได้รับความนิยมในแคว้นเบงกอล ประเทศอินเดีย ใช้สำหรับประกอบการละเล่นชนิดหนึ่ง เรียกว่ายาตราหรือละครเร่ที่คล้ายคลึงกับละครชาตรี โดยสันนิษฐานว่าเครื่องดนตรีชนิดนี้ เคยถูกนำมาใช้ประกอบการเล่นนาฏกรรมชนิดหนึ่ง จึงเรียกว่าโขลตามชื่อของเครื่องดนตรี

คำว่าโขนในภาษาทมิฬ มีจุดเริ่มต้นจากคำว่าโขล ซึ่งมีความใกล้เคียงกับโกลหรือโกลัมในภาษาทมิฬ หมายความถึงเพศหรือการแต่งตัว การประดับตกแต่งร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าให้สวยงามตามแต่ลักษณะของเพศหญิงและเพศชาย หรืออีกความหมายหนึ่งของโกลหรือโกลัมคือการใช้แป้งโรยประดับตกแต่งหน้าบ้าน

คำว่าโขนในภาษาอิหร่าน มีที่มาจากคำว่าษูรัต ควาน (อังกฤษ: Surat khwan) หมายความถึงตุ๊กตาหรือหุ่น ซึ่งใช้สำหรับประกอบการแสดง โดยมีผู้ขับร้องและให้เสียงแทนตัวหุ่น เรียกว่าควานหรือโขน (อังกฤษ: Khon) มีความคล้ายคลึงกับผู้พากย์และผู้เจรจาของการแสดงโขนในปัจจุบัน

คำว่าโขนในภาษาเขมร เป็นการกล่าวถึงโขนในพจนานุกรมภาษาเขมร ซึ่งหมายความถึงละคร แต่เขียนแทนว่าละโขน ที่หมายความถึงการแสดงมหรสพอย่างหนึ่ง

จากข้อสันนิษฐานต่าง ๆ ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าโขนเป็นคำมาจากภาษาใด พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ระบุความหมายของโขนเอาไว้ว่า "โขนหมายถึงการเล่นอย่างหนึ่งคล้ายละครรำ แต่เล่นเฉพาะในเรื่องรามเกียรติ์ โดยผู้แสดงสวมหัวจำลองต่าง ๆ ที่เรียกว่าหัวโขน" หรือหมายความถึงไม้ใช้ต่อเสริมหัวเรือท้ายเรือให้งอนเชิดขึ้นไปที่เรียกว่าโขนเรือ หรือใช้สำหรับเรียกเรือชนิดหนึ่งที่มีโขนว่าเรือโขนเช่น เรือโขนขนาดใหญ่น้อยเหลือหลายในลิลิตพยุหยาตรา หรือหมายความถึงส่วนสุดทั้งสองข้างของรางระนาดหรือฆ้องวงใหญ่ที่มีลักษณะงอนขึ้นว่าโขน

ที่มารูป  http://th.wikipedia.org/wiki/โขน

ในสมัยของสมเด็จพระนาราย์มหาราช ได้มีการกล่าวถึงโขนโดยลาลูแบร์ เอาไว้ว่า "โขนนั้น เป็นการร่ายรำเข้า ๆ ออก ๆ หลายคำรบ ตามจังหวะซอและเครื่องดนตรีอย่างอื่นอีก ผู้แสดงนั้นสวมหน้ากาก (หัวโขน) และถืออาวุธ แสดงบทหนักไปในทางสู้รบกันมากกว่าจะเป็นการร่ายรำ และมาตรว่าการแสดงส่วนใหญ่จะหนักไปในทางโลดเต้นเผ่นโผนโจนทะยาน และวางท่าอย่างเกินสมควรแล้ว นาน ๆ ก็จะหยุดเจรจาออกมาสักคำสองคำ หน้ากาก (หัวโขน) ส่วนใหญ่นั้นน่าเกลียด เป็นหน้าสัตว์ที่มีรูปพรรณวิตถาร (ลิง) หรือไม่เป็นหน้าปีศาจ (ยักษ์) " ซึ่งเป็นการแสดงความเห็นต่อมหรสพในอดีตของชาวไทยในสายตาของชาวต่างประเทศ

การแสดงโขนโดยทั่วไปนิยมแสดงเรื่องรามยณะหรือรามเกียรติ์ ในอดีตกรมศิลปากรเคยจัดแสดงเรื่องอุณรุฑ แต่ไม่ได้รับความนิยมมากเท่ากับการแสดงเรื่องรามเกียรติ์ มีหลายสำนวน ทั้งที่มีการประพันธ์ขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะบทประพันธ์ในสมัยรัตนโกสินทร์ นิยมแสดงตามสำนวนของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ที่กรมศิลปากรได้ปรับปรุงเป็นชุดเป็นตอนสำหรับแสดงเป็นโขนฉาก ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ก็เคยทรงพระราชนิพนธ์บทร้องและบทพากย์ไว้ถึง 6 ชุด ได้แก่ ชุดนางสีดาหาย ชุดเผากรุงลงกา ชุดพิเภกถูกขับ ชุดจองถนน ชุดประเดิมศึกลงกาและชุดนาคบาศ

แต่เดิมนั้นการแสดงโขนจะไม่มีการสร้างฉากประกอบการแสดงตามท้องเรื่อง การดำเนินเรื่องราวต่าง ๆ เป็นแบบจินตนาการถึงฉากหรือสถานที่ในเรื่องราวเอง การจัดฉากในการแสดงโขนเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยที่ทรงคิดสร้างฉากประกอบการแสดงโขนบนเวทีขึ้น คล้ายกับการแสดงละครดึกดำบรรพ์ที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงคิดขึ้น

 


http://th.wikipedia.org/wiki/โขน

<< Go Back