<< Go Back

นิยามอาชีพพนักงานอัยการ
         อำนวยความยุติธรรมในสังคม และรักษาผลประโยชน์ของรัฐ โดยในคดีอาญามีฐานะเป็นโจทก์แทนแผ่นดินมีอำนาจ และหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและกฎหมายอื่นในด้านคดีแพ่ง มีอำนาจและหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านกฎหมายแก่ส่วนราชการและหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ ดำเนินคดีแทนรัฐบาลในศาลทั้งปวง พิจารณารับว่าแก้ต่างให้แก่นิติบุคคล ซึ่งได้มีพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งขึ้นหรือให้แก่รัฐบาล ซึ่งเป็นโจทก์หรือจำเลยและมิใช่เป็นคดีพิพาทกับรัฐบาลเมื่อพนักงานอัยการเห็นสมควร และในด้านคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน มีอำนาจหน้าที่ให้บริการ ช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน เช่น การประนอมข้อพิพาท การให้ความช่วยเหลือทางอรรถคดี และการฟ้องคดีแทนราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดที่ไม่อาจฟ้องเองได้เพราะกฎหมายห้าม เป็นต้น รวมถึงการให้ความช่วยเหลือในการรับแก้ต่างให้เจ้าพนักงานผู้ถูกฟ้องทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญาในเรื่องการที่ได้กระทำไปตามหน้าที่ หรือรับแก้ต่างให้แก่ราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดในเรื่องการที่ได้กระทำตามคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งได้สั่งการโดยชอบด้วยกฎหมาย

ลักษณะของงานที่ทำของอาชีพพนักงานอัยการ
ภารกิจ และหน้าที่หลักของผู้ประกอบอาชีพนี้ สามารถสรุปได้โดยย่อดังนี้ 

1. งานอำนวยความยุติธรรมทางอาญา เพื่อตรวจสอบถ่วงดุลและคานอำนาจการใช้ดุลพินิจทั้งของพนักงาน
สอบสวนและศาลเพื่อให้เป็นไปอย่างถูกต้องชอบธรรม
          ในคดีอาญา อัยการมีอำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการ เช่น ฟ้องคดีต่อศาล ยื่นฟ้องคดีที่ผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องไว้แล้วแต่ถอนฟ้องคดีนั้น เว้นเสียแต่คดีซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัว ทำการตรวจสอบสำนวนคดีของพนักงานสอบสวนที่ได้สอบสวนผู้กระทำความผิดกฎหมายอาญาแล้ว กรณีที่พนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องและพนักงานอัยการเห็นชอบด้วย ให้ออกคำสั่งไม่ฟ้องและแจ้งให้พนักงานสอบสวนทราบ แต่ถ้าไม่เห็นด้วยก็สั่งฟ้องและแจ้งพนักงานสอบสวนให้ส่งตัวผู้ต้องหามาเพื่อฟ้องหรือจัดการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้ได้ตัวผู้ต้องหามาฟ้องคดีต่อศาล เป็นต้น 
          ในคดีแพ่งมีอำนาจหน้าที่ดำเนินคดีแทนรัฐบาลในศาลทั้งปวง หรือในกรณีเทศบาล หรือสุขาภิบาล หรือนิติบุคคล ซึ่งได้มีพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งขึ้นเป็นโจทก์หรือเป็นจำเลย ซึ่งไม่ใช่เป็นคดีที่พิพาทกับรัฐบาล เมื่อพนักงานอัยการเห็นสมควรจะรับว่าต่างหรือแก้ต่างคดีก็ได้

2. งานด้านคดีอาญาระหว่างประเทศ ในกรณีคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดน และการร่วมมือกับต่างประเทศในการสอบสวนและอื่นๆ 

3. งานด้านรักษาผลประโยชน์ของรัฐ ให้คำแนะนำปรึกษาหารือปัญหาข้อกฎหมาย แก่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้การบริหารราชการของหน่วยงานดังกล่าวลุล่วงไปด้วยดี และรับดำเนินการว่าต่างแก้ต่างให้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด รวมถึงการตรวจร่างสัญญาต่างๆ ก่อนลงนาม

4. งานด้านคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน รับหน้าที่ในคดีที่ราษฎรไม่อาจเป็นโจทก์
ฟ้องร้องคดีได้โดยมีกฎหมายห้ามไว้ เมื่อพนักงานอัยการเห็นสมควรก็จะดำเนินคดีแทนให้ เช่น คดีอุทลุมที่บุตรไม่อาจฟ้องร้องเพื่อเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบุพการีได้ เป็นต้น หรือในคดีที่ศาลชั้นต้นลงโทษบุคคลใดโดยลำพัง ถ้าศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ปล่อยผู้นั้น เมื่อพนักงานอัยการเห็นสมควรจะฎีกาก็ได้ หรือในกรณีที่มีการผิดสัญญาประกันจำเลยตามกฎหมาย อัยการมีอำนาจหน้าที่ดำเนินคดีในการบังคับให้เป็นไปตามสัญญานั้น และให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย ตลอดจนช่วยทำนิติกรรมสัญญาและประนอมข้อพิพาทให้แก่ประชาชนทั่วไปโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ 

5. งานตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการระดับสูง กรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือข้าราชการระดับสูงผู้ใดเมื่อถูกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อกฎหมาย และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไต่สวนแล้วเห็นว่ามีมูล จะส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นงานตามที่กำหนดโดยรัฐธรรมนูญ 

6. งานพิเศษ เช่น งานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ โดยมีโครงการเผยแพร่ความรู้และช่วยเหลือทางกฎหมายให้แก่ประชาชน โครงการสนับสนุนการระงับข้อพิพาททางแพ่งในระดับท้องถิ่นโดยอนุญาตตุลาการ ฝึก
อบรมความรู้กฎหมายเบื้องต้นทางกฎหมายแก่ผู้นำหมู่บ้าน กลุ่มเยาวชน กลุ่มเกษตรกร พัฒนากร ครูและเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่อยู่ในตำบล ช่วยเหลืออรรถคดีแก่ประชาชนที่ยากจนทั้งคดีว่าต่างและแก้ต่าง หรือหากประชาชนมีปัญหาด้านกฎหมาย ก็สามารถขอคำปรึกษาได้ที่สำนักงานอัยการจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ

คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ มีดังต่อไปนี้
1. จบหลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต หรือสอบไล่ได้รับปริญญา หรือประกาศนียบัตรทางกฎหมายจากต่างประเทศ ซึ่งคณะกรรมการอัยการเทียบว่าไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี

2. จบตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา

3. ได้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายเป็นข้าราชการตุลาการ จ่าศาล รองจ่าศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าพนักงานบังคับคดี พนักงานคุมประพฤติ นายทหารพระธรรมนูญหรือทนายความ หรือได้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายอย่างอื่นตามที่คณะกรรมการอัยการกำหนด ทั้งนี้ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี และให้ คณะกรรมการอัยการมีอำนาจออกระเบียบกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพนั้นๆ ด้วย

4. มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด

5. มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปี

6. เป็นผู้เลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญด้วยความบริสุทธิ์ใจ

7. เป็นสามัญสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตยสภา

8. ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี

9. ไม่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

10. ไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกสั่งให้พักราชการ หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการหรือตามกฎหมายอื่น

11. ไม่เป็นผู้เคยถูกลงโทษไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ

12. ไม่เป็นผู้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้ทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ

13. ไม่เป็นคนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือมีกายหรือจิตใจไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการอัยการ หรือเป็นโรคที่ระบุไว้ในกฎกระทรวง

14. เป็นผู้ที่คณะกรรมการแพทย์มีจำนวนไม่น้อยกว่าสามคน ซึ่งคณะกรรมการอัยการจะได้กำหนดได้ตรวจ ร่างกายและจิตใจแล้ว และคณะกรรมการอัยการได้พิจารณารายงานของแพทย์เห็นว่าสมควรรับสมัครได้


http://www.unigang.com/Article/65

<< Go Back