ความหมายของรัฐ รัฐ คือ กลุ่มคนที่รวมกันอยู่ในดินแดนอันมีอาณาเขตแน่นอน และมีรัฐบาลซึ่งมีอำนาจอธิปไตยหรืออำนาจสูงสุดในการดำเนินกิจการของรัฐทั้งในประเทศและนอกประเทศโดยอิสระ ดังนั้นรัฐจึงเป็นสังคมที่มีการจัดองค์กรทางการเมืองแตกต่างกับการรวมตัวกันเป็นสังคมแบบธรรมดาๆความหมายของรัฐเน้นในเรื่องการเมือง คือ มีการจัดองค์กรในรูปแบบที่ว่า มีคนจำนวนหนึ่งเป็นผู้ปกครอง มีอำนาจเหมือนกลุ่มคนทั้งหมด อำนาจของผู้ปกครองนี้อาจได้มาด้วยการใช้กำลัง หรือความยินยอมมอบให้ หรือการยอมรับของคนที่อยู่ในสังคมนั้นทางใดทางหนึ่งก็ได้ คำว่า รัฐนี้อาจให้ความหมายโดยสมบูรณ์ว่า รัฐประชาชาติ ก็ได้ เมื่อพิจารณาความหมายของคำว่า รัฐแล้ว จะเห็นได้ว่า ความจำเป็นของการมีรัฐนั้นเป็นเพราะความต้องการของคนที่จะอยู่ร่วมกันด้วยความสงบสุข มีการจัดวางระเบียบกฎเกณฑ์กติกาควบคุมการประพฤติของคน มีองค์การที่จะรับผิดชอบในการดูแลให้คนในสังคมมีพฤติกรรมตามแนวทางที่กำหนดไว้ จุดประสงค์สำคัญในการมีรัฐ คือความปรารถนาของคนที่จะมีชีวิตที่มีความสมบูรณ์ อันได้แก่ การมีเสรีภาพ มีโอกาสอันเท่าเทียมกัน มีความเจริญก้าวหน้า มีโอกาสพัฒนาด้านสติปัญญา ความสามารถ และบุคลิกภาพ มีศักดิ์และสิทธิ์ที่จะเป็นเจ้าของประเทศ
องค์ประกอบของรัฐ
โดยทั่วไปแล้วรัฐจะมีสภาพเป็นรัฐที่สมบูรณ์ได้ต้องประกอบไปด้วยองค์ประกอบ 4 ประการ คือ
1. ประชากร (พลเมือง) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของรัฐ ถ้าไม่มีประชากรมีแต่อาณาเขตหรือดินแดน จะเป็นรัฐไม่ได้ ประชากรอาจจะเป็นสมานรูป คือ มีเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ วัฒนธรรมเป็นอันเดียวกัน เช่น ไทย เขมร เวียดนาม ญี่ปุ่น เป็นต้น หรือจะเป็นประชากรแบบพหุสังคม คือ หลากหลายเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ วัฒนธรรม รวมอยู่ในรัฐเดียวกันก็ได้ ส่วนจำนวนนั้นจะมากน้อยแตกต่างกันออกไป ไม่แน่นอน ในยุคกรีกโบราณ เพลโต กำหนดจำนวนประชากรที่เหมาะสมที่สามารถบริหารจัดการได้ดี ก่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยคือ 5,040 คน แต่ในปัจจุบัน (พ.ศ. 2552) จำนวนประชากรในโลกมีประมาณ 6,900 ล้านคน ประเทศที่มีจำนวนมากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ ประเทศจีน ประมาณ 1,300 ล้านคน ประเทศอินเดีย 1,100 ล้านคน สหรัฐอเมริกา 275 ล้านคน เป็นต้น
2. อาณาเขต หรือดินแดน รัฐต้องมีอาณาเขตหรือดินแดนที่ตั้งแน่นอน จะมีขนาด ใหญ่หรือเล็กก็ได้ (รัฐวาติกันและประเทศสิงคโปร์ มีขนาดเล็กมาก) หมู่คนที่เร่รอนไม่ปักหลักหากินเป็นถิ่นฐานแน่นอน เช่น พวกยิปซีในสมัยก่อนถือว่าไม่ได้อยู่ร่วมกันในลักษณะรัฐ โดยปกติอาณาเขตของรัฐมักติดต่อกัน แต่ไม่เช่นนั้นเสมอไป เช่น มลรัฐอะแลสกาของสหรัฐอเมริกา มีพื้นที่ไม่ติดกับมลรัฐอื่น ๆ ของสหรัฐอเมริกา มีประเทศแคนาดาคั่นอยู่ เป็นต้น
3. รัฐบาล รัฐจำเป็นต้องมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ปกครองบริหาร ซึ่งเรียกว่า รัฐบาลเป็นผู้ทำหน้าที่คุ้มครองรักษาความสงบภายใน ป้องกันการรุกรานจากภายนอก จัดการทางเศรษฐกิจและการบำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชากรที่อาศัยอยู่ในรัฐ รวมทั้งการดำเนินกิจกรรมของรัฐในทางการเมืองระหว่างประเทศด้วย
4.
อธิปไตย รัฐจะต้องมีอำนาจอธิปไตย คือ อำนาจสูงสุด หรืออำนาจที่มีลักษณะเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ครอบคลุมทั่วอาณาเขตดินแดน และประชากรของรัฐ เป็นอำนาจที่ถาวร คงอยู่คู่กับรัฐตลอดไป และแบ่งแยกไม่ได้ ทั้งอำนาจอธิปไตยภายในและอำนาจอธิปไตยภายนอก อำนาจอธิปไตยภายใน ได้แก่ อำนาจอธิปไตยทางกฎหมาย ทางการเมือง ตามข้อเท็จจริง ตามนิตินัย ส่วนอำนาจอธิปไตยภายนอก ได้แก่ ความเป็นรัฐเอกราช มีอิสรเสรีภาพ ปราศจากการควบคุมหรือแทรกแซงจากรัฐอื่นๆ
วัตถุประสงค์และหน้าที่ของรัฐ
การที่มนุษย์อยู่รวมกันโดยจัดตั้งเป็นรัฐนั้น ก็ด้วยความหวังว่ารัฐจะเป็นที่ที่ทำให้มนุษย์มีความอยู่รอดปลอดภัยและมีชีวิตที่มีความสุขสมบูรณ์ ดังนั้นเพื่อสนองความต้องการของมนุษย์ รัฐจึงจำเป็นต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดหน้าที่ในอันที่จะทำให้สนองความต้องการของประชาชนตรงตามจุดประสงค์ วัตถุประสงค์ และหน้าที่รัฐในความคาดหมายของประชาชนนั้น มีดังต่อไปนี้
หน้าที่ของรัฐ
หน้าที่ของรัฐ คือ รัฐบาลจะต้องทำหน้าที่รับผิดชอบในการอำนวยประโยชน์สุขให้แก่ประชาชน และประชาชนจะต้องได้รับประโยชน์จากรัฐ คือ
1. รักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายใน โดยการออกกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ
2. การจัดสวัสดิการทางสังคมให้บริการแก่ประชาชน ให้ประชาชนได้รับประโยชน์และความสุขโดยทั่วถึง
3. พัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ให้ประชาชนอยู่ดีกินดี สร้างความเจริญให้เกิดขึ้นในสังคม
http://psiba.blogspot.com/2012/03/3-state.html
|