ตลาดในทางเศรษฐศาสตร์
ตลาดในความหมายของบุคคลทั่วไป หมายถึงสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งที่มีผู้นำของไปขายแล้ว มีคนมาซื้อ เป็นสถานที่เพื่อแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าและบริการกัน เช่น ตลาดนัดสวนจตุจักร ตลาดขายอาหารสดทั่วไป ตลาดพาหุรัด ตลาดบางลำภู และตลาด
บางเขน เป็นต้น
แต่ในทางเศรษฐศาสตร์ คำว่า ตลาด มีความหมายกว้างกว่านั้น กล่าวคือ ตลาดเป็นขอบเขต การขายสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งที่ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถติดต่อและทำความตกลงในการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันได้ ดังนั้นตลาดในความหมายทางเศรษฐศาสตร์จึงไม่ได้เน้นถึงสถานที่ที่ทำการซื้อขายกัน แม้ผู้ซื้อ และผู้ขายจะอยู่คนละมุมโลกและไม่มีสถานที่
ซื้อขายกัน ก็อาจสร้างตลาดให้เกิดขึ้นได้โดยติดต่อซื้อขาย กันทางจดหมาย อีเมล โทรเลข โทรศัพท์ วิทยุ หรือทางโทรสารก็ได้ การซื้อขายโดยไม่ต้องมีตลาดเป็นตัวเป็นตน ไม่มีสถานที่ตั้งแน่นอนนี้ จึงทำให้สามารถขยายอาณาเขตการซื้อขายได้สะดวก ดังนั้นตลาดสินค้าและบริการบางอย่างจึงมีขอบเขตได้กว้างขวางทั่วโลกจึงเรียกว่า ตลาดโลก ตลาดโลกจึงมิได้ ตั้งอยู่ในที่หนึ่งที่ใด แต่เป็นเพียงการชี้ให้เห็นถึงสภาวะการค้าสินค้าต่างๆทั่วโลกว่าในขณะนั้นแต่ละประเทศทั่วโลกมีผลผลิตและมีความต้องการซื้อขายสินค้าชนิด
ใดกันมากน้อยเพียงใด
นอกจากนี้แล้ว ตลาดในทางเศรษฐศาสตร์ยังหมายความรวมถึงภาวะการตลาดด้วย เช่น การเกิดภาวะราคาข้าวตกต่ำ ภาวะราคาหุ้นตกต่ำ ราคาสินค้าถีบตัวสูงขึ้น ภาวะที่สินค้าขาดตลาด หรือภาวะที่มีสินค้าล้นตลาด
ความหมายของตลาดในทางเศรษฐศาสตร์จึงกว้างมากและพอสรุปได้ดังนี้ ตลาด หมายถึงสภาวการณ์ที่ผู้ซื้อและผู้ขายติดต่อกันได้โดย
สะดวก จนสามารถทำการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้ากันได้
ประเภทของตลาดแบ่งตามลักษณะการแข่งขัน
การแบ่งตลาดตามลักษณะของการแข่งขันหรือเรียกว่าแบ่งตามจำนวนผู้ขายและลักษณะของ สินค้า การแบ่งตลาดตามวิธีนี้มีความใกล้เคียง
ความเป็นจริงมาก เพราะในความเป็นจริงนั้นจะมีผู้ซื้อสินค้าเป็นจำนวนมาก การแบ่งตามจำนวนผู้ขายย่อมจะแบ่งได้สะดวกกว่า สำหรับการ
วิเคราะห์ตลาด ของนักเศรษฐศาสตร์ก็มุ่งให้ความสนใจในการแบ่งตลาดตามวิธีนี้ด้วย ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
1) ตลาดที่มีการแข่งขันสมบูรณ์ (competitive market) หรืออาจเรียกว่าตลาดที่มีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ (perfect or pure competition) ตลาดประเภทนี้มีอยู่น้อยมากในโลกแห่งความเป็นจริง อาจกล่าวได้ว่าเป็นตลาดในอุดมคติ (ideal market) ของนักเศรษฐศาสตร์ ตลาดชนิดนี้เป็นตลาดที่ราคาสินค้าเกิดขึ้นจากแรงผลักดันของอุปสงค์และอุปทานโดยแท้จริง ไม่มีปัจจัยอื่นๆมาผลักดันในเรื่องราคา ลักษณะสำคัญของตลาดประเภทนี้ คือ
- มีผู้ซื้อและผู้ขายจำนวนมาก (many buyers and sellers) แต่ละรายมีการซื้อขายเป็นส่วนน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ซื้อและผู้ขายทั้งหมด
ในตลาด การซื้อขายสินค้าของผู้ซื้อหรือผู้ขายแต่ละรายไม่มีอิทธิพลต่อการกำหนดราคาในตลาด กล่าวคือ ถึงแม้ผู้ซื้อหรือผู้ขายจะหยุดซื้อหรือขายสินค้าของตนก็จะไม่กระทบกระเทือนต่อปริมาณสินค้าทั้งหมดในตลาด เพราะผู้ซื้อหรือผู้ขายแต่ละคนจะซื้อสินค้าหรือขายสินค้าเป็นจำนวนเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณสินค้าทั้งหมดที่มีอยู่ในตลาด
- สินค้าที่ซื้อหรือขายจะต้องมีลักษณะเหมือนกัน (homogeneity) สามารถที่จะใช้แทนกันได้อย่างสมบูรณ์ในทรรศนะหรือสายตาของผู้ซื้อ ไม่ว่าจะซื้อสินค้าประเภทเดียวกันนี้จากผู้ขายคนใดก็ตามผู้ซื้อจะได้รับความพอใจเหมือนกัน เช่น ผงซักฟอก ถ้าตลาดมีการแข่งขันกันอย่างแท้
จริงแล้ว ผู้ซื้อจะไม่มีความรู้สึกว่าผงซักฟอกแต่ละกล่องในตลาดมีความแตกต่างกัน คือใช้แทนกันได้สมบูรณ์ แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามที่ผู้ซื้อมีความรู้สึกว่าสินค้ามีความแตกต่าง เมื่อนั้นภาวะของความเป็นตลาดแข่งขันอย่างสมบูรณ์ก็จะหมดไป
- ผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องมีความรอบรู้ในภาวะของตลาดอย่างสมบูรณ์ คือ มีความรู้ภาวะของอุปสงค์ อุปทาน และราคาสินค้าในตลาด สินค้าชนิดใดมีอุปสงค์เป็นอย่างไร มีอุปทานเป็นอย่างไร ราคาสูงหรือต่ำก็สามารถจะทราบได้
- การติดต่อซื้อขายจะต้องกระทำได้โดยสะดวก หมายความว่าทั้งผู้ซื้อและผู้ขายสามารถทำการติดต่อค้าขายกันได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว รวมถึงการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตจะต้องเป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็วด้วย
- หน่วยธุรกิจสามารถเข้าหรือออกจากธุรกิจการค้าโดยเสรี ตลาดประเภทนี้จะต้องไม่มีข้อจำกัดหรือข้อกีดขวางในการเข้ามาประกอบธุรกิจของนัก
ธุรกิจรายใหม่ หมายความว่าหน่วยการผลิตใหม่ๆจะเข้ามาประกอบกิจการแข่งขันกับหน่วยธุรกิจที่มีอยู่ก่อนเมื่อใดก็ได้ หรือในทางตรงกันข้ามจะเลิกกิจการเมื่อใดก็ได้
2)ตลาดแข่งขันไม่สมบูรณ์ (non-perfectcompetition market)
เนื่องจากตลาดที่มีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์เป็นตลาดที่หาได้ยากเพราะเป็นตลาดในอุดมคติของนักเศรษฐศาสตร์ ตลาดตามสภาพที่แท้จริงในโลกนี้ส่วนใหญ่เป็นตลาดที่มีการแข่งขันไม่สมบูรณ์ ทั้งนี้เนื่องจากสินค้าที่ซื้อขายในท้องตลาดส่วนมากมีลักษณะไม่
เหมือนกัน ทำให้ผู้ซื้อเกิดความพอใจสินค้าของผู้ขายคนหนึ่งมากกว่าอีกคนหนึ่ง นอกจากนี้ ผู้ซื้อหรือผู้ขายในธุรกิจมีน้อยเกินไปจนกระทั่งมีอิทธิพลเหนือราคาที่จำหน่าย กล่าวคือ แทนที่จะเป็นผู้ยอมรับปฏิบัติตามราคาตลาดก็กลับเป็นผู้
กำหนดราคาเสียเอง สินค้าที่ซื้อขายในตลาดทั่วๆไปก็มักจะเคลื่อนย้ายไปยังที่ต่างๆไม่สะดวก เพราะถนนไม่ดีการติดต่อสื่อสารไม่ดี และอาจจะมีกฎหมายการห้ามส่งสินค้าเข้าออกนอกเขตอีกด้วย ประกอบกับผู้บริโภคไม่ค่อยจะรอบรู้ในสภาวะของตลาดอย่างดีจึงทำให้ตลาดเป็นตลาดที่มีการแข่งขันอย่างไม่สมบูรณ์
ประเภทของตลาดแข่งขันไม่สมบูรณ์
1) ตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด (monopolistic competition) ตลาดประเภทนี้มีลักษณะที่สำคัญ คือ มีผู้ซื้อและผู้ขายเป็นจำนวนมาก และทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต่างมีอิสระเต็มที่ในการที่จะวางนโยบายการขายและการซื้อของตนโดยไม่กระทบกระเทือนคนอื่น แต่สินค้าที่ผลิตมีลักษณะหรือมาตรฐานแตกต่างกันถือเป็นสินค้าอย่างเดียวกัน แต่ก็มีหลายตรา หลายยี่ห้อ การบรรจุหีบห่อ การโฆษณาต่างกัน เป็นเหตุให้ผู้ซื้อชอบหรือพึงใจในสินค้ายี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งโดยเฉพาะ ทำให้ผู้ขายสามารถกำหนดราคาสินค้าของตนได้ทั้งๆที่ผู้ขายในตลาดชนิดนี้ต้องแข่งขันกับผู้ขายรายอื่น เช่น สินค้าผงซักฟอก สบู่ ยาสีฟัน ฯลฯ
2) ตลาดที่มีผู้ขายน้อยราย (oligopoly) ตลาดประเภทนี้จะมีผู้ขายเพียงไม่กี่ราย และผู้ขายแต่ละรายจะขายสินค้าเป็นจำนวนมาก เมื่อเทียบกับปริมาณสินค้าทั้งหมดในตลาด ถ้าหากว่า ผู้ขายรายใดเปลี่ยนราคาหรือนโยบายการผลิตและการขายแล้วก็จะกระทบกระเทือนต่อ
ผู้ผลิตรายอื่นๆ เช่น บริษัทผู้ขายน้ำมันในประเทศไทยซึ่งมีเพียงไม่กี่ราย ผู้ขายแต่ละบริษัทจะต้องวางนโยบายของตน ให้สอดคล้องกับนโยบายของบริษัทอื่นๆเพื่อที่จะดำเนินการค้าร่วมกันอย่างราบรื่น และผู้ขายทุกคน ก็มีอิทธิพลต่อการกำหนดราคาและปริมาณ
สินค้าในตลาด ถ้าบริษัทใดเปลี่ยนนโยบายการขายย่อมมี ผลกระทบกระเทือนต่อสินค้าชนิดนั้นๆทั้งหมด เช่น ถ้าบริษัทใดบริษัทหนึ่งลดราคา สินค้าของคู่แข่งขันก็จะลดราคาลงด้วยเพื่อรักษาระดับการขายไว้
3) ตลาดผูกขาด (monopoly) คือตลาดที่มีผู้ขายอยู่เพียงคนเดียว ทำให้ผู้ขายมีอิทธิพลเหนือราคาและปริมาณสินค้าอย่างสมบูรณ์ในการที่จะเพิ่มหรือลดราคาและควบคุมจำนวนขายทั้งหมด (total supply) ได้ตาม
ต้องการ ส่วนมากจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ใช้เงินลงทุนมาก มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้ธุรกิจขนาดเล็กรายอื่นๆไม่สามารถเข้ามาแข่งขันได้ ตลาด
ประเภทนี้ ได้แก่ บริษัทผลิตเครื่องบิน เครื่องจักรกล หรือกิจการสาธารณูปโภค เช่น การเดินรถประจำทาง โรงงาน ยาสูบ ไฟฟ้า น้ำประปา
โทรศัพท์ เป็นต้น
สาเหตุของการผูกขาด
ผู้ผลิตหรือธุรกิจผูกขาดเป็นผู้ควบคุมปริมาณวัตถุดิบแต่เพียงผู้เดียวเกิดจากข้อกำหนดของกฎหมายด้วยการมีลิขสิทธิ์ หรือการขออนุญาตแบบมีสัมปทานเฉพาะรายธุรกิจ ทำให้ธุรกิจอื่นไม่สามารถเข้ามาแข่งขันได้ เป็นธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ใช้เงินลงทุนสูง มีประสิทธิภาพในการผลิตด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยรวมทั้งมีความได้เปรียบทางด้านทรัพยากรต่างๆ ทำให้เกิดลักษณะของการผูกขาดธรรมชาติ
(natural monopoly) ธุรกิจอื่นไม่สามารถเข้ามาแข่งขันได้
https://sites.google.com/site/krukanithasriboon/thdsxb-2
|