ลัทธิจักรวรรดินิยม
( Imperialism ) เป็นแนวความคิดของชาติมหาอำนาจในยุโรปที่จะขยายอำนาจ
และอิทธิพลของตนเข้าครอบครองดินแดนที่ล้าหลังและด้อยความเจริญในทวีปต่างๆ
เพื่อแสวงผลประโยชน์ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ เช่น แหล่งวัตถุดิบ และตลาดระบายสินค้า
ชาวยุโรปเข้ายึดครองดินแดนของชนชาติต่างๆในรูปของ การล่าอาณานิคม ( Colonization
)
จักรวรรดินิยมยุคแรก
เริ่มต้นตั้งแต่การสำรวจทางทะเล เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 15 จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีการค้นพบทวีปอเมริกา
และการค้นพบเส้นทางเดินเรือไปทวีปเอเชียเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 15 สเปน และโปรตุเกสเป็นชาติผู้นำการสำรวจและค้นพบดินแดนใหม่
และได้สร้างความมั่งคั่งให้แก่ชาติทั้งสองเป็นอันมาก
สเปนเข้ายึดครองดินแดนในอเมริกาใต้
แล้วบรรทุกแร่เงินและทองคำจากโลกใหม่จำนวนมหาศาล
ส่วนโปรตุเกสมั่งคั่งจากการผูกขาดการค้าขายกับอินเดียและหมู่เกาะเครื่องเทศ
ต่อมาการผูกขาดเส้นทางเดินเรือของสเปนและโปรตุเกสก็ถูกแข่งขันโดยอังกฤษ ฝรั่งเศส
และฮอลันดา ในคริสต์ศตวรรษที่ 17
สเปนและโปรตุเกสก็สูญเสียความยิ่งใหญ่ด้านการค้าและอาณานิคมให้แก่ อังกฤษ ฮอลันดา
และฝรั่งเศส และเกิดการขัดผลประโยชน์ระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศส
จักรวรรดินิยมยุคใหม่
ในระยะแรกเมื่อการปฏิวัติอุตสาหกรรม เริ่มขึ้นในอังกฤษตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 อังกฤษเป็นชาติผู้นำการผลิตอุตสาหกรรมผ้าและเหล็กแต่เพียงผู้เดียว
ในขณะที่ประเทศในภาคพื้นยุโรปและสหรัฐอเมริกายังมีอาชีพทางกสิกรรมเป็นส่วนใหญ่
จึงจำต้องพึ่งสินค้าอุตสาหกรรมจากอังกฤษ
ต่อมาเมื่อการปฏิวัติอุตสาหกรรมแพร่หลายไปทั่วยุโรป
ประเทศอุตสาหกรรมหนักเกิดความจำเป็นต้องแสวงหาตลาดสินค้าใหม่ๆ
และแหล่งวัตถุดิบเพิ่มมากขึ้น นับตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 การล่าอาณานิคมในยุคนี้ ชาวยุโรปต้องการเข้าไปควบคุม
ทั้งการปกครองและเศรษฐกิจของประเทศอาณานิคมอย่างเต็มที่ ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า
จักรวรรดินิยมยุคใหม่
ลัทธิจักรวรรดินิยม มีผลกระทบต่อการเมือง
การปกครองของประเทศต่างๆ มีดังนี้
1
ทำให้ชาติมหาอำนาจขัดแย้งในผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน
ส่งผลให้บรรยากาศทางการเมืองของโลกเข้าสู่ภาวะตึงเครียด และนำไปสู่สงครามในที่สุด
2
ทำให้ชาติตะวันตกมีข้ออ้างอันชอบธรรมในการยึดครองดินแดนต่างๆเป็นอาณานิคมของตน
เพราะถือเป็นภาระหน้าที่ของคนผิวขาวที่จะนำอารยธรรมความเจริญไปเผยแพร่ยังดินแดนที่ล้าหลังและห่างไกลความเจริญ
ส่งผลให้ประชากรในดินแดนอาณานิคมเกิดการซึมซับในวัฒนธรรม วิถีการดำเนินชีวิต
ความคิด และค่านิยมแบบตะวันตก