<< Go Back
           ชนเผ่ามาไซนั้นจัดอยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์นิโลต ซึ่งเป็นพวกเดียวกับชาติพันธุ์ที่อาศัยกระจัดกระจายอยู่ในประเทศแทนซาเนีย ซูดานตอนใต้ ยูกันดา และเคนยา และพูดภาษา "มา" (Maa) ซึ่งอยู่ในภาษากลุ่มนิโล - ซาฮาราน อันเป็นภาษาที่พูดกันในแถบตอนบนของแม่น้ำไนล์และแม่น้ำชารี ชนเผ่านี้มีจำนวนประชากรที่ไม่ชัดเจน แต่จากการประมาณการครั้งล่าสุดพบว่ามีอยู่ 900,000 คน โดยกระจุกตัวอยู่ทางตอนใต้ของเคนยาประมาณ 453,000 คน และตอนเหนือของแทนซาเนีย 430,000 คน
            สังคมเผ่า มาไซประกอบด้วยกลุ่มย่อยๆ (เรียกกันในภาษามาว่า อิโลชอน) 16 กลุ่ม ได้แก่ อิลดามัต (Ildamat) อิลปูร์โก (Ilpurko) อิลกีกอนโยกี (Ilkeekonyokie) อิลอยไต (Iloitai) อิลกาปูติเอ (Ilkaputiei) อิลกันเกเร่ (Ilkankere) อิสิเรีย (Isiria) อิลมอยตานิก (Ilmoitanik) อิลูโดกิลานี (Iloodokilani) อิลอยโตกิโตกิ (Iloitokitoki) อิลารุซา (Ilarusa) อิลมาตาตาปาโต (Ilmatatapato) อิลวัวซินกิชู (Ilwuasinkishu) โกเร่ (Kore) ปารากูยู (Parakuyu) และอิลกิซองโก (Ilkisonko)
            ชาวมาไซดำรงชีวิตด้วยการเลี้ยงสัตว์เร่รอน สัตว์ที่เลี้ยงก็คือวัว แพะ และแกะ ซึ่งนอกจากจะเลี้ยงไว้บริโภคแล้ว สัตว์เหล่านี้ยังอาจใช้แลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสัตว์ประเภทเดิมและ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์เหล่านี้ หรือแม้แต่นำไปขายเพื่อแลกเป็นเงิน การเลี้ยงสัตว์แบบเร่ร่อนดังกล่าวนี้จะเป็นไปตามฤดูกาล กล่าวคือไม่ได้เร่ร่อนไปไหนก็ได้ แต่จะเร่รอนแบบกลับมาที่เดิมตามฤดูกาล
            วิถีชีวิตแบบเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนเช่นนี้ส่งผลให้ชาวมาไซต้องมีระบบบริหารการ ใช้ที่ดินแบบสาธารณะ กล่าวคือ ทุกคนในกลุ่มมีสิทธิเท่าเทียมกันในการเข้าไปใช้ทรัพยากรที่มีอยู่บนที่ดิน ที่กำลังถือครองอยู่ในขณะนั้น แต่อย่างไรก็ตาม ในยามอุดมสมบูรณ์นั้น ชาวมาไซจะแบ่งที่ดินเป็นส่วนเพื่อให้แต่ละครอบครัวใช้ทำมาหากิน
            นอกจากนี้ วิถีชีวิตแบบเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนและระบบการใช้ที่ดินแบบสาธารณะนี้เองที่ทำ ให้ชาวมาไซผูกพันกับวัวและบุตรเป็นอย่างมาก อย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดมากก็คือการที่ชนเผ่านี้วัดความมั่งคั่งของบุคคล ด้วยจำนวนวัวที่ถือครองและจำนวนบุตรที่เลี้ยงดูอยู่ โดยบุคคลจะต้องมีทั้งสองอย่างเป็นจำนวนมากถึงจะเรียกได้ว่ามั่งคั่งอย่างแท้ จริง มีวัวมากแต่มีลูกน้อย ก็ถือว่าไม่มั่งคั่ง ในขณะเดียวกัน มีลูกมากแต่ไม่ค่อยจะมีวัวก็ยังไม่ถือว่าเป็นไปตามมาตรฐานความมั่งคั่ง และแม้แต่ศาสนาของชาวมาไซก็ยังหนีไม่พ้นสองสิ่งข้างต้น ชนเผ่านี้เชื่อว่าพระเจ้าเป็นผู้ประทานสิ่งดังกล่าว ดังจะเห็นได้จากบทสวดของชาวมาไซ ที่กล่าวว่า ขอให้พระผู้สร้างจงได้ประทานวัวและบุตรแก่ปวงข้า
            ในเรื่อง ที่อยู่อาศัยนั้น ชาวมาไซไม่มีวัฒนธรรมการสร้างที่อยู่อาศัยแบบถาวร มีแต่การสร้างที่พักชั่วคราว โดยที่พักดังกล่าวนี้จะเรียกกันว่า อินกาจิจิก (Inkajijik) ซึ่งจะมีลักษณะเป็นเพิงพักรูปดาวหรือวงกลมทรงตัวด้วยเสาไม้และหุ่มด้วยผนัง ที่ทำขึ้นจากเศษกิ่งไม้โดยใช้ส่วนผสมของโคลน หญ้า มูลวัว ปัสสวะคน กิ่งไม้เล็กๆ และขี้เถ้า มาเป็นตัวผสานเนื้อในของผนัง การสร้างอินกาจิจิกจะเป็นหน้าที่ของผู้หญิง อินกาจิจิกแต่ละหลังจะมีขนาดค่อนข้างเล็ก กว้างประมาณ 3 เมตร ยาว 5 เมตร และสูงประมาณ 1.5 เมตร ภายในจะใช้เป็นที่เก็บ ปรุง ตลอดจนบริโภคอาหาร เป็นที่เก็บทรัพย์สิน เป็นที่หลับนอน และยังเป็นที่เก็บสัตว์เลี้ยงอีกด้วย ชาวมาไซจะนิยมสร้างที่พักอยู่กันเป็นกลุ่มๆล้อมรอบด้วยรั้วที่ทำจากกิ่งหนาม ของต้นไม้จำพวกสีเสียด (Acacia) เพื่อป้องกันภัยจากสิงห์โต
            ชาวมาไซ เป็นชนเผ่าที่บริโภคแต่ผลิตภัณฑ์จากสัตว์เป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่นั้นจะมาจากวัวที่เลี้ยงไว้ ซึ่งได้แก่ นมวัว เนื้อวัว มันวัว และเลือดวัว โดยเฉพาะเลือดวัว จะนิยมบริโภคในโอกาสพิเศษ เช่น มอบให้กับผู้ที่ได้ผ่านพิธีสุหนัดมาแล้ว ให้แก่หญิงที่เพิ่งให้กำเนิดบุตร คนป่วย หรือใช้สำหรับบรรเทาอาการมึนเมา นอกจากนี้ชาวมาไซยังนิยมกินน้ำผึ้งและเปลือกไม้ โดยเปลือกไม้จะนิยมนำมาทำเป็นซุป
            ด้วยเหตุที่มีวิถีชีวิตแบบเลี้ยงสัตว์เร่ร่อน ชาวมาไซจึงมีทัศนคติที่ไม่ดีต่ออาหารที่ได้มาจากการทำการเกษตรแบบเพาะปลูก โดยมีความเชื่อว่าการกระทำดังกล่าวจะเป็นการทำอันตรายธรรมชาติ แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน มีชาวมาไซจำนวนมากเริ่มบริโภคอาหารที่เป็นธัญญาพืชจำพวกข้าวโพด ข้าว มันเทศ มันฝรั่ง กะหล่ำปลี ที่ผลิตจากชุมชนอื่นบ้างแล้ว

            สำหรับการแต่งกายนั้น ชาวมาไซจะแต่งตัวแตกต่างกันตามวัย เพศ และสถานที่ ในสมัยก่อน ชาวมาไซจะนิยมห่มร่างกายด้วยหนังสัตว์เช่นหนังแกะในกรณีที่เป็นผู้หญิงและ หนังลูกวัวหากเป็นคนดูแลฝูงสัตว์ โดยผ้าคลุมหนังสัตว์ดังกล่าวจะเรียกว่า ชูก้า ในภาษามา แต่ในปัจจุบันเสื้อคลุมชูก้าดังกล่าวซึ่งนิยมทำจากผ้าฝ้ายก็หาซื้อได้ตาม ท้องตลาดกันแล้ว ผ้าคลุมชูก้าของชาวมาไซมักมีสีแดงสด ซึ่งถือเป็นสีเอกลักษณ์ของชนเผ่ามาไซเลยก็ได้ แต่อย่างไรก็ตาม สีอื่นๆเช่น สีดำ สีน้ำเงิน สีนำชมพู มีลายแถบ เป็นลายตราหมากรุก หรือลายดอกไม้ก็มี ในบางครั้งผู้หญิงมาไซก็นิยมนุ่งผ้ากังก้า หรือ คังก้า (Kanga หรือ Khanga) ซึ่งเป็นที่นิยมใส่กันในหมู่ชนเผ่าแถบแอฟริกาตะวันออก โดยจะเป็นผ้าทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 1.5 เมตร มีแถบลายรอบขอบนอกของผ้า และยังพบว่าชาวมาไซที่อาศัยในแถบชายฝั่งก็ยังนิยมนุ่งผ้ากิกอย (Kikoi) ซึ่งมีลักษณะเหมือนโสร่งหรือผ้าขาวม้าอีกด้วย นอกจากนี้แล้ว ชาวมาไซในแทนซาเนียยังสวมรองเท้าแตะบางๆที่ทำจากหนังวัวด้วย
            โดยปกติ ชาวมาไซจะนิยมสวมสายผูกข้อมือที่ทำจากไม้ และสวมสร้อยลูกปัดหลากสี นอกจากนี้แล้วชาวมาไซ โดยเฉพาะผู้หญิงมักจะชอบเจาะส่วนต่างๆของหู รวมไปถึงยืดติ่งหูแล้วฝังเครื่องประดับลงไป
            ในเรื่อง ทรงผมนั้น ชาวมาไซจะพิถีพิถันเรื่องนี้เป็นอย่างมาก โดยทรงผมจะมีลักษณะแตกต่างกันไปตามเพศ โอกาส และช่วงอายุ กล่าวคือ ชาวมาไซผู้ชาย ซึ่งส่วนมากจะเป็นนักรบ จะไว้ผมยาว ย้อมเป็นสีแดงสดใสหรือแดงเลือดหมู และถักเป็นทรงเดดล็อก (dreadlock) โดยเชื่อกันว่าผมทรงนี้จะแสดงออกถึงความแข็งแกร่ง ความน่าเกรงขาม และความงามเยี่ยงชายชาตรี แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าพิธีกรรมสำคัญตามช่วงอายุ เหล่าชายชาวมาไซก็จะต้องโกนหัวเสมอ
            สำหรับผู้หญิงมาไซนั้น ปกติแล้วจะนิยมโกนหัว แต่ก็มีหญิงมาไซบางกลุ่มเช่นกลุ่มตูร์กานา (Turkana) ซึ่งจะนิยมไว้ผมทรงเดดล็อกเช่นกัน แต่จะแตกต่างจากเดดล็อกของผู้ชาย กล่าวคือ จะมีการโกนผมด้านข้างเลยไปถึงด้านหลังศีรษะออกหมดเหลือไว้เฉพาะผมด้านบน จากนั้นก็จะถักผมที่เหลือด้านบนเป็นทรงเดดล็อก และในบางโอกาสนั้น เช่นกรณีที่ลูกชายหรือลูกสาวตาย ผู้เป็นแม่ก็จะรวบผมไว้ด้านหลังหรือไม่ก็ด้านหน้าเพื่อเป็นการไว้ทุกข์

            สำหรับ เด็กนั้น เมื่ออายุย่างเข้า 3 เดือน ก็จะต้องโกนหัวโดยเหลือไว้แค่ผมที่อยู่บริเวณหน้าผากเรื่อยลงมาถึงหลังต้นคอ ซึ่งทรงที่ออกมาจะคล้ายกับทรงพังค์นั่น เชื่อกันว่าผมทรงนี้จะสร้างความสง่างามให้กับทารก
            ในเรื่องศาสนานั้น ชาวมาไซนับถือพระเจ้าองค์เดียว โดยเชื่อว่าพระเจ้า ซึ่งเรียกว่า เองไก (Enkai) เป็นผู้สร้างโลกและสร้างมนุษย์ขึ้นมา 3 เผ่า คือ เผ่าตอร์โรโบ (Torrobo - เผ่าปิกมี่) ซึ่งชาวมาไซเชื่อว่าพระเจ้าได้ประทานน้ำผึ้งและเหล่าสัตว์ป่าไว้ให้เป็น อาหารของคนเหล่านี้ เผ่าต่อมาคือ เผ่ากิกูยู (Kikuyu) ซึ่งเป็นเกษตรกรที่พระเจ้าประทานเมล็ดพันธุ์ต่างๆให้ และชนเผ่าสุดท้ายก็คือชาวมาไซเอง ซึ่งพระเจ้าได้ประทานวัวมาให้
            เองไก นั้นจะมีธรรมชาติที่ขัดแย้งกันในตัวเอง กล่าวคือ ในด้านหนึ่งจะเป็นเทพที่ทรงความกรุณา ซึ่งเรียกว่า เองไก นาร็อก (Engai Narok - เทพดำ) แต่อีกด้านหนึ่ง เป็นเทพที่อาฆาตมาดร้าย เรียกว่า เองไก นันโยกี (Engai Nanyokie - เทพแดง) เชื่อกันว่าเทพองค์นี้ประทับอยู่บนภูเขาแห่งเทพเจ้าที่อยู่ทางเหนือสุดของ แทนซาเนีย
            บุคคลทางศาสนาที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ในสังคมมาไซก็ คือหมอผี ซึ่งในภาษามาไซเรียกกันว่า ไลบอน (Laibon) ซึ่งจะรับผิดชอบด้านพิธีกรรมของชนเผ่า เช่น ขอฝน ประกอบพิธีเอาฤกษ์เอาชัยในการสงคราม ทำนายเหตุการณ์ และรักษาโรคตามหลักไสยศาสตร์

            สังคมมาไซจะประกอบไปด้วยกลุ่มอายุ (Age-set) โดยคนอายุรุ่นราวคราวเดียวกันจะมีสิทธิเท่าเทียมกันทุกอย่าง รวมถึงมีสิทธิที่จะใช้ทรัพย์สินของเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันอีกด้วย กลุ่มอายุมีความสำคัญเพราะเป็นกลุ่มที่ต้องเข้าร่วมพิธีกรรมเกี่ยวกับวงจร ชีวิต (Rites of Passage) ต่างๆ ด้วยกัน โดยพิธีกรรมดังกล่าวนั้นได้แก่
             1.พิธีก่อนสุหนัด เรียกกันว่า เอนกิปาตะ (Enkipaata - pre-circumcision ceremony) ซึ่งเด็กผู้ชายกลุ่มอายุ 14 - 16 จะต้องเดินทางท่องดินแดนของเผ่าตนเพื่อแนะนำตนเองเป็นเวลา 4 เดือน 
            2. พิธีสุหนัด เรียกว่า เอมูราตาเร่ (Emuratare - circumcision ceremony) ซึ่งเป็นพิธีที่ทั้งหญิงและชายชาวมาไซต้องผ่าน เพื่อจะได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ใหญ่ สำหรับผู้ชายนั้นพิธีนี้จะเป็นขั้นตอนแรกของการเข้าสู่วิถีแห่งการเป็นนักรบ มาไซ ซึ่งเรียกกันว่า มอร์ราน (Morran) โดยเขาจะต้องเข้าค่ายอบรมความเป็นนักรบเบื่องต้น ซึ่งเรียกกันว่า เอมันยัตตา (Emanyatta) เป็นเวลาประมาณ 8 -12 ปี และสำหรับผู้หญิงนั้น พิธีนี้จะทำให้เธอเป็นผู้หญิงโดยแท้จริง เหมาะแก่การมีครอบครัวและเป็นแม่บ้านที่ชอบธรรม 
            3.พิธีเริ่มรีตความเป็นนักรบอาวุโส ซึ่งเรียกกันในภาษมาไซว่า อิวโนโต (Eunoto - senior warrior initiation ceremony) ซึ่งจะกระทำกัน 10 ปี หลังจากพิธีสุหนัด ผู้ชายที่เป็นนักรบมาไซผ่านพิธีกรรมนี้ก็จะได้รับการยอมรับเป็นนักรบอาวุโส และสามารถแต่งงานได้ 
            4. พิธีเริ่มรีตความเป็นผู้อาวุโส หรือ ออร์นเกเชร์ (Orngesherr - junior elder initiation ceremony) หลังจากได้ผ่านพิธีนี้แล้วนักรบมาไซก็จะกลายเป็นผู้อาวุโส มีความสามารถที่จะรับผิดชอบครอบครัวของตนได้เต็มที่ และก็สามารถย้ายออกจากบ้านของพ่อแม่ของตนเพื่อตั้งบ้านหลังใหม่ได้ 
            พิธีกรรมเหล่านี้จะทำให้ชาวมาไซเติบโตและรู้จักบทบาทหน้าที่ของตนในสังคม นั่นเอง
            นอกจากนี้แล้ว ชาวมาไซก็ยังมีการแบ่งแยกหน้าที่หญิง-ชายในสังคมกันอย่างชัดเจน กล่าวคือผู้ชายจะเป็นนักรบซึ่งทำหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยของหมู่บ้านและ ทำการตัดสินใจสำคัญๆที่เกี่ยวกับความเป็นไปของชุมชน ส่วนผู้หญิงนั้นจะรับผิดชอบเรื่องการสร้างและดูแลบ้านเรือน การหุงหาอาหาร เก็บฟืน รีดนมสัตว์เลี้ยง การเลี้ยงดูบุตร ส่วนเด็กผู้ชายก็จะทำหน้าที่ดูแลฝูงสัตว์เลี้ยง 
            ผู้หญิงในสังคมมาไซนั้นจะอยู่ใต้อำนาจของผู้ชาย ซึ่งเห็นได้จากหลายกรณีด้วยกัน เช่น เด็กผู้หญิงถูกสอนให้เคารพยำเกรงผู้เป็นบิดาและต้องไม่ปรากฏตัวในยามที่บิดา กำลังกินอาหารอยู่ ยิ่งกว่านั้นในยามที่มีแขกผู้ชายที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันมาเยือน ผู้ชายซึ่งเป็นสามีสามารถให้ภรรยาของตนเองหลับนอนกับแขกได้ 
นอกจากเรื่องบทบาทชายหญิงแล้ว เรื่องวัยวุฒิก็มีความสำคัญอย่างยิ่งด้วยเช่นกัน กล่าวคือ สังคมมาไซนั้นจะนับถือระบบอาวุโส ผู้ชายอาวุโสในเผ่าจะมีอำนาจในการตัดสินใจต่างๆที่สำคัญในเผ่า ผู้ชายต้องมีอายุ 35 ปีบริบูรณ์ก่อนถึงจะสามารถตัดสินใจเรื่องครอบครัวของตัวเองได้เต็มที่ โดยก่อนหน้านั้นจะต้องเชื่อฟังคำแนะนำของบิดาตนเอง 
            เรื่องการแต่งงานนั้น สังคมมาไซอนุญาติให้ผู้ชายสามารถมีภรรยาได้หลายคน โดยผู้หญิงมักจะได้รับการหมั้นหมายไว้เป็นเวลานานก่อนจะแต่งงานอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ชายในเผ่ามีอำนาจในการคัดค้านเพื่อยกเลิกการหมั้นหมายที่ทำกันมานานแล้ว นี้ได้ ตามวัฒนธรรมของชาวมาไซนั้น ผู้หญิงที่แต่งงานถือว่าได้แต่งงานกับผู้ชายทั้งกลุ่มอายุนั้น ดังนั้นจึงสามารถหลับนอนกับผู้ชายคนอื่นที่ไม่ใช่สามีโดยตรงแต่อยู่ในกลุ่ม อายุเดียวกันกับสามีโดยตรงของตนได้ ดังจะเห็นจากธรรมเนียมของชายชาวมาไซที่เป็นเจ้าบ้านที่ไม่รู้สึกขัดข้องเลย ในการเสนอให้แขกในกลุ่มอายุที่มาเยี่ยมบ้านหลับนอนกับภรรยาของตน หากแขกคนนั้นเป็นคนในกลุ่มอายุเดียวกัน โดยในกรณีนี้ผู้หญิงจะมีสิทธิเลือกว่าจะนอนกับแขกคนนั้นหรือไม่ และเด็กที่เกิดจากความสัมพันธุ์ประเภทนี้จะถือว่าเป็นของสามีโดยตรง 
            สำหรับในเรื่องการหย่าร้าง (Kitala - กิตาลา) นั้น พ่อแม่ฝ่ายหญิงสามารถร้องขอการหย่าให้กับลูกสาวตนเองที่แต่งงานแล้วได้ ในกรณีที่พบว่าฝ่ายชายกระทำการทารุณต่อฝ่ายหญิง 
            ในปัจจุบัน สังคมชาวมาไซกำลังพบกับการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความจำเป็นที่จะต้องลงหลักปักฐานในพื้นที่แห่งหนึ่งแห่ง ใดแทนการเลี้ยงสัตว์แบบเร่ร่อน เนื่องจากรัฐบาลเคนยาและแทนซาเนียกำลังขยายพื้นที่ป่าสงวนเพิ่มมากขึ้น เรื่อยๆ ทำให้การล่าสัตว์หรือการเข้าไปทำมาหากินในพื้นทีดังกล่าวกลายเป็นเรื่องผิด กฎหมายไปแล้ว การเริ่มวิถีชีวิตแบบลงหลักปักฐานนั้นทำให้ชาวมาไซต้องหันมาทำการเกษตรแบบ เพาะปลูกเพิ่มมากขึ้นเพื่อชดเชยอาหารที่เคยได้จากการดำรงชีวิตแบบเดิม ซึ่งนี่ได้ชักนำชาวมาไซเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดไปโดยปริยาย ผลที่ตามมาก็คือปัญหาความยากจนที่เกิดขึ้นในหมู่ชาวมาไซ ชาวมาไซจำนวนมากต้องละทิ้งวิถีชีวิตแบบเดิมและเข้ามาหางานทำในตัวเมือง 
             ที่ผ่านมาได้มีความพยายามจากทั้งทางรัฐบาลและองค์กรเอกชนต่างๆ ในการอนุรักษ์วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของชาวมาไซไว้และในขณะเดียวกันก็ช่วยให้ พวกเขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ในท่ามกลางสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปได้อีกด้วย จึงเป็นที่น่าติดตามว่าชนเผ่ามาไซจะสามารถประนีประนอมความเป็นเอกลักษณ์ทาง วัฒนธรรมของตนเองที่เป็นมรดกสืบต่อกันมายาวนานกับวิถีชีวิตแบบยุคสมัยใหม่ ที่กำลังเป็นสิ่งที่ปฏิเสธได้ยากในสมัยนี้ อย่างไร? 


    ขอบคุณเว็บไซต์ http://sameaf.mfa.go.th/th/country/africa/tips_detail.php?ID=2010

<< Go Back