หลักนิยมทางทหาร (อังกฤษ: Military doctrine) หมายถึง การจัดการกำลังทหารในการมีส่วนร่วมในการทัพ ปฏิบัติการทางทหาร ยุทธการและยุทธนาการต่าง ๆ โดยจะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับทฤษฎี ประวัติศาสตร์ การทดลองและการปฏิบัติ และมีความคิดริเริ่มและสร้างสรรค์อีกด้วย
หลักนิยมทางทหารเป็นแนวทางสำหรับการดำเนินการ โดยเป็นการวางโครงร่างให้กับกำลังทหารทั้งหมด ซึ่งเป็นประโยชน์ในการจัดมาตรฐานของปฏิบัติการ สร้างรูปแบบทั่วไปในการบรรลุเป้าหมายทางการทหาร เพื่อให้เกิดความง่ายและความคล่องแคล่ว และยังเป็นการวางพื้นฐานของการกำหนดรูปแบบการดำเนินการของปฏิบัติการทางทหาร สำหรับนักวางแผนทางการทหาร
ยุทธศาสตร์การทหาร เป็นการหาเหตุผลสำหรับปฏิบัติการทางทหาร ในขณะที่หลักนิยม เป็นการมุ่งตอบคำถามโครงร่างในรูปแบบของระบบกองทัพ อย่างเช่น
- เป้าหมายของระบบ
- ภารกิจของกองทัพ
- วิธีการดำเนินการเพื่อบรรลุภารกิจ
- วิธีการดำเนินการเพื่อบรรลุภารกิจที่เคยปรากฏในอดีต
- และอื่น ๆ
ในทำนองเดียวกัน หลักนิยมก็ไม่ใช่ยุทธศาสตร์หรือยุทธวิธี แต่เป็นการรวมเอาโครงสร้างทั้งสามระดับของการทำสงคราม (ยุทธศาสตร์การทหาร ปฏิบัติการทางทหาร และยุทธวิธีทางทหาร) หลักนิยมทางทหาร จึงเป็นการสะท้อนถึงการตัดสินใจของนายทหารระดับสูง ไปจนถึงผู้นำพลเรือนที่สำคัญ เกี่ยวกับการตัดสินใจในสิ่งที่คาดว่าเป็นประโยชน์และเป็นไปได้หรือไม่ในทางทหาร ประกอบด้วยปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้
หลักนิยมกับยุทธศาสตร์นั้น คำทั้ง ๒ คำนี้ เป็นนามธรรมที่ละเอียดอ่อนแล้วแต่ความเข้าใจของแต่ละคน แต่ก็พอจะจับประเด็นเปรียบเทียบระหว่าง "หลักนิยม" กับ "ยุทธศาสตร์" ได้ดังนี้คือ ยุทธศาสตร์ เป็นศาสตร์และศิลป์ ในการใช้พลังอำนาจต่าง ๆ ในทุกโอกาสไม่ว่าในสภาวะสงครามหรือปกติ ค่อนข้างจะมีลักษณะเป็นแผนการปฏิบัติมากกว่าหลักนิยม แต่มีวัตถุประสงค์ที่คล้ายกันคือ ให้ได้มาซึ่งความได้เปรียบคู่แข่งขัน หรือให้ได้มาซึ่งชัยชนะ ยุทธศาสตร์ จึงมีลักษณะเป็นศาสตร์ในการกำหนดหนทางการปฏิบัติ แต่หลักนิยม เป็นเครื่องกำกับ หรือชี้แนะ จึงมีความอ่อนตัวมากกว่า
อย่างไรก็ตาม เพราะว่า ยุทธศาสตร์ เป็นหนทางปฏิบัติ ที่มาจากการวิเคราะห์ และประเมินสถานการณ์พลังอำนาจแห่งชาติ หรือของกองทัพฝ่ายเรา และฝ่ายข้าศึก จากสถานการณ์ที่เป็นสภาวะแวดล้อมในปัจจุบัน แต่หลักนิยม มีที่มาจาก หลักความจริงอันเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป มาจากความเชื่อของผู้คน และมาจากบทเรียนในประวัติศาสตร์สงครามซ้ำแล้วซ้ำเล่า บนเงื่อนไขสถานการณ์อันหนึ่งที่ระบุไว้ หรือสภาวะแวดล้อมในอดีต ดังนั้น หากสถานการณ์ที่ประเมินได้ในปัจจุบันตรงกับเงื่อนไขสถานการณ์ที่ระบุไว้ในหลักนิยมแล้ว หลักนิยมนั้น จะกลายเป็นยุทธศาสตร์ ที่สามารถนำไปใช้ได้ทันที
ที่มา : http://th.wikipedia.org/wiki/หลักนิยมทางทหาร
|