<< Go Back

        นับตั้งแต่นายมิฮาอิล เอส กอร์บาชอฟ (Mikhail S. Gorbachev) ขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์และผู้นำของสหภาพโซเวียต เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘ ทั่วโลกก็พากันจับตามองอย่างสนใจ เพราะนายกอร์บาชอฟนั้นมีอายุเพียง ๕๔ ปี ทั้งยังมีกิตติศัพท์เลื่องลือว่าเป็นผู้ที่มีหัวก้าวหน้า เพียงไม่ถึงปีที่ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศ กอร์บาชอฟก็ประกาศให้ใช้นโยบายกลาสนอสต์ และเปเรสตรอยกาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๒๙ เพื่อปฏิรูปประเทศอย่างรีบด่วน นโยบายทั้งสองนี้คืออะไร และผลอันเกิดจากการนำนโยบายขึ้นมาใช้เป็นอย่างไร ศาสตราจารย์ ดร.เพ็ญศรี ดุ๊ก ราชบัณฑิตสาขาวิชาประวัติศาสตร์สากล ได้วิเคราะห์ไว้ดังนี้

        นโยบายกลาสนอสต์ คือ การ "เปิด" ประเทศให้กว้างขึ้น ให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยให้ประชาชนมีอิสระในการแสดงความคิดเห็นของตน

        นโยบายเปเรสตรอยกา คือ การ "ปรับ" สภาพเศรษฐกิจและสังคมของสหภาพโซเวียตให้คลายจากความชะงักงัน เพื่อยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประชาชนชาวโซเวียตให้ดีขึ้นกว่าเดิม

        ประธานาธิบดีกอร์บาชอฟ นับเป็นผู้นำของสหภาพโซเวียตคนแรกที่กล้าเผชิญกับภาวะขั้นวิกฤตที่เป็นจริงของสังคมโซเวียต ทั้งนี้เพราะตระหนักถึงความล้มเหลวในการบริหารประเทศในด้านต่าง ๆ ของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ เป็นเวลากว่า ๗๐ ปีแล้ว ในด้านการเมืองชาวโซเวียตต้องดำรงชีวิตภายใต้การปกครองแบบเผด็จการคอมมิวนิสต์ ไม่มีสิทธิแสดงความคิดเห็นใด ๆ ในด้านเศรษฐกิจและสังคม รัฐบาลต้องเผชิญกับปัญหางบประมาณขาดดุลอย่างร้ายแรง ชาวโซเวียตมีความเป็นอยู่อย่างยากแค้น ขาดอาหารหลักและของใช้พื้นฐานในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ การเกษตร อุตสาหกรรมและการพาณิชย์ ก็ยังล้าหลังมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ เกิดความล่าช้าในการผลิตและการขาย เพราะต้องรอการตัดสินใจจากผู้บริหารในระดับสูงเท่านั้น

        กอร์บาชอฟประสบผลสำเร็จในการนำนโยบายทั้ง ๒ นี้มาใช้ปฏิรูปการปกครองให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น มีการจัดตั้งสมัชชาผู้แทนประชาชนขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๓๒ ประกอบด้วยสมาชิก ๒,๒๕๐ คน โดยรัฐบาลเปิดโอกาสให้ประชาชนมีโอกาสได้เลือกตั้งบุคคลที่ตนเชื่อมั่นและศรัทธาในความสามารถ ซึ่งก่อนหน้านี้จะต้องเป็นผู้ที่รัฐเป็นผู้กำหนดตัวไว้ มีการให้สิทธิเสรีภาพแก่สื่อมวลชน ให้เสรีภาพแก่ประชาชนในการชุมนุมกัน และเลือกนับถือศาสนา ปล่อยนักโทษการเมือง ล่าสุดสมัชชาผู้แทนประชาชนได้ลงมติด้วยเสียงข้างมากให้กอร์บาชอฟเป็นประธานาธิบดีที่มีอำนาจบริหารอย่างกว้างขวาง เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติต่าง ๆ ของประเทศ

        แต่กอร์บาชอฟประสบความล้มเหลวด้านเศรษฐกิจและสังคม เพราะชาวโซเวียตยังคงดำรงชีวิตอย่างยากแค้นต่อไป อาหารและปัจจัยหลักในการดำรงชีวิตยิ่งขาดแคลนมากขึ้นกว่าเดิม เงินเฟ้อ และราคาสินค้าแพงขึ้นมาก

        ชาวโลกจึงพากันตั้งคำถามว่า "ประธานาธิบดีกอร์บาชอฟจะไปรอดหรือ" ขณะเดียวกันนโยบายกลาสนอสต์ก็ได้นำผลกระทบมาสู่โซเวียตโดยปริยาย โดยประเทศคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก ๖ ประเทศ คือ โปแลนด์ ฮังการี บัลแกเรีย เชโกสโลวะเกีย โรมาเนีย และเยอรมนีตะวันออก ซึ่งได้ถือโอกาสนี้ทำลายกำแพงเบอร์ลินด้วย โดยถือโอกาส "เปิด" และ "ปรับ" ตนเองเช่นกัน ทำให้ระบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ในยุโรปต้องล่มสลายลง ทั้งยังเกิดปัญหาเชื้อชาติในโซเวียตติดตามมา เนื่องจาก ๑๕ สาธารณรัฐอันประกอบเป็นสหภาพโซเวียตนั้น ประกอบด้วยประชาชนที่มีความแตกต่างกันทั้งด้านเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม แต่ที่ตลอดเวลาสามารถอยู่ร่วมกันได้ก็ด้วยกลไกการบริหารและควบคุมที่เคร่งครัดเฉียบขาดของพรรคคอมมิวนิสต์ ครั้นเมื่อรัฐบาลเปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงออกได้ ความรู้สึกเกลียดชังระหว่างเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมจึงปะทุขึ้นอย่างเปิดเผย ดังจะเห็นได้จากการปะทะกันระหว่างชาวอาเซอร์ไบจาน (Azerbaidzhan) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม กับชาวอาร์เมเนีย (Armenia) ซึ่งนับถือศาสนาคริสต์ เพื่อแย่งกันถือสิทธิ์ครอบครองดินแดน นากอร์โน-การาบาฮ์ (Nagorno-Karabakh) ซึ่งยังไม่สามารถแก้ไขได้จนทุกวันนี้

        นอกจากนี้ สาธารณรัฐต่าง ๆ บนชายฝั่งทะเลบอลติกยังพากันเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชและขอแยกตัวเป็นอิสระจากการปกครองของโซเวียต ได้แก่ สาธารณรัฐลิทัวเนีย (Lithuania) เอสโตเนีย (Estonia) และลัตเวีย (Latvia) โดยเฉพาะลิทัวเนีย ได้ตัดสินใจประกาศเอกราชเมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๓๓ ทำให้ลัตเวีย เอสโตเนีย ประสงค์จะดำเนินรอยตาม รวมทั้งรัฐยูเครน (Ukraine) จอร์เจีย (Georgia) และมอลดาเวีย (Moldavia) ด้วย กอร์บาชอฟจึงต้องตัดสินใจดำเนินการอย่างเฉียบขาดโดยส่งกำลังทหารไปยังเมืองหลวงของลิทัวเนีย ยึดสำนักงานหนังสือพิมพ์และสำนักงานกรมอัยการ และตัดความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้เพื่อมิให้เกิดปัญหาร้ายแรงเกิดตามมา คือการล่มสลายของสหภาพโซเวียตถ้าสาธารณรัฐอื่น ๆ พากันแยกตัวเป็นอิสระ

        นโยบาย "เปิด" และ "ปรับ" จึงเป็นเสมือนดาบสองคม ทำให้ประธานาธิบดีกอร์บาชอฟต้องตกอยู่ในภาวะลำบาก ถ้าต้องยอมผ่อนตามข้อเรียกร้องของสาธารณรัฐต่าง ๆ สหภาพโซเวียตคงเหลือแต่มอสโกและบริเวณรอบ ๆ เท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตไม่สามารถจะยอมได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ชาวโลกจึงพากันติดตามผลงานของประธานาธิบดีกอร์บาชอฟอย่างใจจดใจจ่อ และเอาใจช่วยเพื่อให้นโยบายดังกล่าวบรรลุผล แม้จะไม่แน่ใจว่าเขาจะสามารถอยู่ในอำนาจได้นานสักเพียงไร เพื่อนำรัฐนาวาฝ่ามรสุมการเมืองไปจนถึงจุดหมายปลายทางได้.

<< Go Back