<< Go Back
ธงชาติ ตราแผ่นดิน

             ตองกา (อังกฤษ: Tonga) หรือ โตงา (ตองกา: Tonga) มีชื่อทางการคือ ราชอาณาจักรตองกา เป็นประเทศหมู่เกาะในภูมิภาคโพลินีเซีย ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ระหว่างประเทศนิวซีแลนด์และรัฐฮาวายของสหรัฐอเมริกา โดยทะเลอาณาเขตทางตะวันตกติดต่อกับประเทศฟิจิ ส่วนทางตะวันออกติดต่อกับหมู่เกาะคุก นีอูเอและอเมริกันซามัว ในขณะที่ทางทิศเหนือติดต่อกับหมู่เกาะวาลลิสและหมู่เกาะฟุตูนา ในขณะที่ทางทิศเหนือติดต่อกับประเทศซามัวและอเมริกันซามัว ชื่อประเทศในภาษาตองกาแปลว่าทิศใต้ นอกจากนี้ประเทศนี้ได้รับฉายาว่าหมู่เกาะแห่งมิตรภาพ ซึ่งกัปตันเจมส์ คุกเป็นผู้ตั้งฉายานี้
             ประเทศตองกาเป็นประเทศขนาดเล็กมีเนื้อที่เพียง 747 ตารางกิโลเมตร นับเป็นอันดับที่ 189 ของโลก หมู่เกาะตองกาประกอบไปด้วยเกาะน้อยใหญ่ประมาณ 169 เกาะ โดยมีเพียง 36 เกาะเท่านั้นที่มีการอยู่อาศัย เกาะที่ใหญ่ที่สุดคือเกาะตองกาตาปู ซึ่งเป็นที่ตั้งศูนย์กลางการปกครองคือนูกูอะโลฟา เกาะส่วนใหญ่ของตองกาเป็นเกาะที่เกิดจากการทับถมของปะการัง ประชากรของตองกามีทั้งสิ้น 103,036 คน นับเป็นอันดับที่ 192 ของโลก

การเต้นรำของชาวตองกา

             สันนิษฐานว่ามนุษย์เข้ามาอยู่อาศัยในตองกาครั้งแรกเมื่อ 826 ± 8 ป ีก่อนคริสตกาล ตองกาเริ่มก่อตั้งอาณาจักรเป็นของตนเองในปี ค.ศ. 950 ชื่อว่าจักรวรรดิตูอิตองกา ซึ่งปกครองโดยราชวงศ์ตูอิตองกา ตูอิฮาอะตากาเลาอาและตูอิกาโนกูโปลู ต่อมาได้เกิดสงครามกลางเมือง ในท้ายที่สุดตูอิกาโนกูโปลูเตาฟาอาเฮาได้รับชัยชนะจึงรวบรวมดินแดนทั้งหมดก่อตั้งอาณาจักรโพลินีเซีย ตองกาเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่สามารถปกป้องตนเองจากการตกเป็นดินแดนอาณานิคมของชาติตะวันตก ในปี ค.ศ. 2010 ประเทศตองกาจัดการเลือกตั้งทั่วไป การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่สมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน

             ภาษาหลายภาษาของกลุ่มโพลินีเซียและภาษาตองกาเอง ได้ให้ความหมายคำว่าโตงา (ตองกา: Tonga) ไว้ว่า ใต้ ซึ่งสัมพันธ์กับตำแหน่งที่ตั้งของประเทศตองกาที่เป็นหมู่เกาะตั้งอยู่ทางตอนใต้สุดของภูมิภาคโพลินีเซียตอนกลาง นอกจากนี้ชื่อประเทศตองกายังมีความหมายคล้ายคลึงกับคำว่าโคนา (ฮาวาย: Kona) ในภาษาฮาวายอีกด้วย

วัฒนธรรมลาพิตา

เครื่องปั้นดินเผาลาพิตา

             ชาวลาพิตา กลุ่มคนที่พูดภาษาในตระกูลภาษาออสโตรนีเชียนเป็นกลุ่มแรกที่เข้ามาอยู่อาศัยในตองกา ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ทางตะวันออกของประเทศปาปัวนิวกินี และหมู่เกาะโซโลมอนในปัจจุบันช่วงเวลาที่กลุ่มคนเข้ามาอาศัยในหมู่เกาะตองกาเป็นกลุ่มแรกสุดนั้นยังเป็นข้อถกเถียงในปัจจุบัน โดยในระยะแรกนั้นมีการสันนิษฐานว่ากลุ่มคนที่เชื่อว่าเข้ามาอยู่อาศัยในดินแดนประเทศตองกา ปัจจุบันเดินทางถึงหมู่เกาะตองกาในช่วงเวลาประมาณ 1,000 - 1,500 ปีก่อนคริสตกาล ในระยะเวลาต่อมา ได้มีการนำเครื่องมือในสมัยนั้นผ่านการหาอายุจากคาร์บอนกัมมันตรังสี ซึ่งช่วยกำหนดได้ว่าชาวลาพิตาเดินทางเข้ามาอยู่ในตองกาในปี 826 ± 8 ก่อนคริสตกาล กลุ่มคนที่เดินทาง เมื่อชาวลาพิตาเดินทางมาถึงหมู่เกาะตองกาแล้ว ได้ลงหลักปักฐานในนูกูเลกา บนเกาะตองกาตาปูเป็นที่แรก และได้ลงหลักปักฐานในฮาอะไปเป็นที่ต่อมา ชาวลาพิตาใช้ชีวิตโดยพึ่งพาทะเลเป็นส่วนใหญ่ อาหารของชาวลาพิตาจึงเน้นอาหารทะเลเป็นหลัก ยกตัวอย่างเช่น ปลานกแก้ว ปลานกขุนทอง เต่า ปลาไหล เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการทำเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์อีกด้วย หลักฐานที่สำคัญทางโบราณคดีในช่วงเวลานี้คือเครื่องปั้นดินเผาลาพิตา ซึ่งเป็นเครื่องปั้นดินเผาที่ทำมาจากเปลือกหอยและหิน โดยพบมากในบริเวณเขตการปกครองฮาอะไปในปัจจุบัน

จักรวรรดิตูอิตองกา

             ประมาณ ค.ศ. 950 อะโฮเออิตูได้สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นตูอิตองกาแห่งจักรวรรดิตูอิตองกาพระองค์แรก จักรวรรดิตูอิตองกาเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดในคริสต์ศตวรรษที่ 12 ในรัชสมัยพระเจ้าโมโม พระเจ้าตูอิตาตูอิและพระเจ้าตาลาตามา ซึ่งพระมหากษัตริย์ทั้ง 3 พระองค์ได้ขยายอาณาเขตของจักรวรรดิจนมีอาณาเขตครอบคลุมบางส่วนของฟิจิ ซามัว โตเกเลา นีอูเอและหมู่เกาะคุก บรรดาดินแดนในการปกครองเหล่านี้จะส่งบรรณาการที่เรียกว่า อีนาซี ซึ่งต้องส่งมาถวายตูอิตองกาที่เมืองมูอาอันเป็นนครหลวงของจักรวรรดิทุกปีในฤดูเก็บเกี่ยว อำนาจของจักรวรรดิตูอิตองกาเริ่มตกต่ำลงหลังจากเกิดเหตุลอบปลงพระชนม์ตูอิตองกาหลายพระองค์ ส่งผลให้ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 พระเจ้าเกาอูลูโฟนูอาตูอิตองกาพระองค์ที่ 24 ตั้งพระอนุชาของพระองค์คือเจ้าชายโมอูงาโมตูอาขึ้นเป็นตูอิฮาอะตากาเลาอาพระองค์แรก เพื่อช่วยเหลือตูอิตองกาในการปกครองจักรวรรดิ และอีก 2 ศตวรรษต่อมาได้มีการตั้งราชวงศ์ตูอิกาโนกูโปลูขึ้นเพื่อช่วยเหลืออีก 2 ราชวงศ์ในการปกครองจักรวรรดิ ซึ่งต่อมาตูอิกาโนกูโปลูสามารถก้าวขึ้นมาเป็นราชวงศ์ที่มีอิทธิพลแทนที่ตูอิฮาอะตากาเลาอาได้
             ในยุคจักรวรรดิตูอิตองกานี้ มีนักสำรวจชาวยุโรปเดินทางเข้ามาหลายกลุ่ม โดยนักสำรวจที่เดินทางเข้ามาเป็นกลุ่มแรกนั้นเป็นนักสำรวจชาวดัตช์ชื่อว่ายาค็อบ เลอแมร์และวิลเลม ชูเต็น ซึ่งเดินทางมาถึงจักรวรรดิตูอิตองกาในปี ค.ศ. 1616 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จักรวรรดิเกิดสงครามกลางเมือง โดยเข้ามาสำรวจในบริเวณเกาะนีอูอาโตปูตาปู ในปี ค.ศ. 1643 แอเบล แทสมันได้เดินทางเข้ามาในตองกาในบริเวณเกาะตองกาตาปูและฮาอะไป แต่การเดินทางเข้ามาทั้ง 2 ครั้งของชาวยุโรปนี้ ยังไม่มีการติดต่อกับชาวพื้นเมืองอย่างเป็นทางการมากเท่าใดนัก การติดต่อกับชาวพื้นเมืองอย่างเป็นทางการของชาวยุโรป และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในจักรวรรดิคือการเดินทางเข้ามาสำรวจของกัปตันเจมส์ คุกในปี ค.ศ. 1773 1774 และ 1777 ซึ่งเจมส์ คุกได้ตั้งชื่อหมู่เกาะนี้ว่า "หมู่เกาะแห่งมิตรภาพ" (Friendly Islands) โดยชื่อนี้มาจากความประทับใจของเจมส์ คุกต่อลักษณะนิสัยของชาวพื้นเมือง หลังจากนั้นอเลสซานโดร มาลาสปินาเข้ามาสำรวจตองกาในปี ค.ศ. 1793 ในปี ค.ศ. 1797 หลังจากการเข้ามาขออเลสซานโดร มาลาสปินาได้มีมิชชันนารีเข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ให้แก่ชาวพื้นเมือง โดยคณะแรกที่เข้ามานั้นคือ London Missionary Society แต่มิชชันนารีกลุ่มนี้ไม่ประสบความสำเร็จมากนักในการแผยแพร่ศาสนา อย่างไรก็ตามมิชชันารีในคณะเวสเลยันที่เข้ามาในตองกาปี ค.ศ. 1822 ประสบความสำเร็จในการเผยแพร่ศาสนาและเป็นส่วนสำคัญในการช่วยให้เตาฟาอาเฮาได้รับชัยชนะในสงครามกลางเมือง
             ในช่วงปลายของจักรวรรดิเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างผู้นำตามเกาะต่างๆ ระหว่างกลุ่มที่นับถือศาสนาพื้นเมืองและกลุ่มที่นับถือศาสนาคริสต์ สงครามกลางเมืองครั้งนี้มีสาเหตุมาจากการลอบปลงพระชนม์ตูอิกาโนกูโปลูพระเจ้าตูกูอาโฮ ในท้ายที่สุดตูอิกาโนกูโปลูเตาฟาอาเฮา ซึ่งเป็นกลุ่มที่นับถือศาสนาคริสต์ได้รับชัยชนะและรวมดินแดนที่แตกแยกเข้าเป็นอาณาจักรเดียวกันในปี ค.ศ. 1845

หลังการรวมชาติตองกา

             หลังจากที่พระเจ้าจอร์จ ตูปูที่ 1ได้รับชัยชนะจากสงครามกลางเมืองตองกาแล้ว พระองค์ได้ตั้งเมืองปังไกในฮาอะไป ซึ่งเป็นเขตอำนาจเดิมของพระองค์เป็นเมืองหลวงในปี ค.ศ. 1845 หลังจากนั้นได้ย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่ลิฟูกา ในท้ายที่สุดได้ย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่เมืองนูกูอะโลฟาซึ่งเป็นเมืองหลวงปัจจุบันในปี ค.ศ. 1851 ในรัชสมัยของพระเจ้าจอร์จ ตูปูที่ 1 มีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายวาวาอู ในปี ค.ศ. 1839 ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและลดบทบาทเจ้านายในท้องถิ่นต่างๆ โดยประมวลกฎหมายฉบับนี้เป็นพื้นฐานที่สำคัญของรัฐธรรมนูญตองกาที่ประกาศใช้ในปี ค.ศ. 1875 การประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกก็เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ โดยเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1862 นอกจากนี้มีการประกาศความสัมพันธ์กับสหราชอาณาจักร เยอรมนีและสหรัฐอเมริกา ซึ่งประเทศเหล่านี้ต่างรับรองความเป็นเอกราชของตองกา การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าจอร์จ ตูปูที่ 1 นั้นเหล่ามิชชันนารีล้วนมีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมืองการปกครอง และในรัชสมัยนี้ศาสนาคริสต์ก็แพร่หลายมากขึ้นจากการอุปถัมภ์ของพระมหากษัตริย์
             ในรัชกาลของพระเจ้าจอร์จ ตูปูที่ 2ได้ลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพ (Treaty of Friendship)กับสหราชอาณาจักร ในวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 1900 ส่งผลให้ตองกาเป็นรัฐภายใต้การอารักขาของสหราชอาณาจักร โดยสหราชอาณาจักรจะควบคุมทางด้านการต่างประเทศ รวมไปถึงสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเท่านั้น ส่วนกิจการภายในอื่นๆ รัฐบาลตองกายังคงมีสิทธิ์ในการบริหาร อย่างไรก็ตามพบว่ารัฐบาลอังกฤษพยายามที่จะแทรกแซงกิจการภายในของตองกาอยู่เสมอ เหตุผลที่ต้องลงนามในสนธิสัญญานี้เนื่องจากรัฐบาลตองกาเกรงว่าชาวต่างชาติอาจรุกรานและยึดตองกาเป็นอาณานิคม ตองกาเริ่มได้อำนาจการปกครองส่วนใหญ่คืนใน ค.ศ. 1958 และได้เอกราชโดยสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 1970

การเรียกร้องประชาธิปไตย

             หลังจากตองกาพ้นจากการอารักขาของสหราชอาณาจักรแล้ว ตองกาได้ปกครองตนเองโดยสมบูรณ์ภายใต้การนำของสมเด็จพระราชาธิบดีเตาฟาอาเฮา ตูปูที่ 4 ในปี ค.ศ. 1992 มีการก่อตั้งกลุ่มนิยมประชาธิปไตยขึ้นในตองกา โดยกลุ่มนิยมประชาธิปไตยได้พยายามเรียกร้องให้มีตัวแทนของประชาชนในรัฐสภามากขึ้น ซึ่งมีเพียง 9 คนเท่านั้น ส่วนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมักมาจากขุนนางและชนชั้นสูงที่มีความสนิทสนมกับราชวงศ์ ความไม่พอใจในการปกครองมีมากขึ้นจากการที่รัฐบาลเชื้อพระวงศ์และขุนนางดำเนินการผิดพลาดหลายประการ ทั้งการลงทุนที่ผิดพลาดจนสูญเสียงบประมาณ 26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การพิจารณาให้ตองกาเป็นสถานที่กำจัดกากนิวเคลียร์ การขายหนังสือเดินทางตองกาแก่ชาวต่างประเทศ การอนุญาตขึ้นทะเบียนเรือต่างประเทศ การถือสัญญาเช่าเครื่องบินโบอิง 757ระยะยาวโดยไม่ได้ใช้งาน ซึ่งนำไปสู่การล้มละลายของสายการบินรอยัลตองกาแอร์ไลน์ รวมไปถึงการเพิ่มพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์และการจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชน
             จากความไม่พอใจในการบริหารงานของรัฐบาลจึงเกิดการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยทั่วกรุงนูกูอะโลฟาในปี ค.ศ. 2005 เพื่อเรียกร้องการปฏิรูปการปกครองให้เป็นระบอบประชาธิปไตย การประท้วงในครั้งนี้นำไปสู่การลาออกของเจ้าชายอูลูกาลาลา ลาวากา อาตานายกรัฐมนตรี และ ดร. เฟเลติ เซเวเลขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน ซึ่งถือได้ว่าเป็นนายกรัฐมนตรีพลเรือนคนแรกของตองกา อย่างไรก็ตามการสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายตูอิเปเลหะเกจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ทำให้กระบวนการปฏิรูปการปกครองล่าช้ายิ่งขึ้น ความล่าช้าในการปฏิรูปการปกครองก่อให้เกิดการจลาจลทั่วกรุงนูกูอะโลฟาในปี ค.ศ. 2006 ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียทางชีวิตและเศรษฐกิจ ในปี ค.ศ. 2008 สมเด็จพระราชาธิบดีจอร์จ ตูปูที่ 5 ทรงสละพระราชอำนาจของพระองค์ส่วนใหญ่และเริ่มการปฏิรูปการปกครอง โดยปี ค.ศ. 2010 เป็นปีแรกที่มีการเลือกตั้งทั่วไปที่สมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนน

             ตองกามีรูปแบบรัฐเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยใช้ระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน มีรัฐสภา ประมุขของประเทศคือพระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจทางพิธีการ การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการสนับสนุนจากเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภา และมีพระราชอำนาจอื่นตามรัฐธรรมนูญโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล

รัฐธรรมนูญ

             รัฐธรรมนูญตองกาฉบับแรกมีใช้ขึ้นในวันที่ 4 พฤษจิกายน ค.ศ. 1875 รัฐธรรมนูญตองกาประกอบไปด้วยเนื้อหาทั้งสิ้น 3 ส่วนคือสิทธิขั้นพื้นฐาน รูปแบบของรัฐบาลและที่ดิน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรตองกามีการแก้ไขหลายครั้ง การแก้ไขในครั้งปัจจุบันนั้นเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2010 โดยการแก้ไขที่สำคัญในครั้งนี้คือการให้สมาชิกรัฐสภาที่มาจากการแต่งตั้งของกษัตริย์ถูกยกเลิก และผู้แทนจากประชาชนจะเป็นสมาชิกส่วนใหญ่ของรัฐสภา การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของตองกาสามารถทำได้โดยการผ่านการพิจารณาของรัฐสภา 3 ครั้ง หลังจากนั้นถวายให้พระมหากษัตริย์ลงพระนาม โดยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน การสืบราชบัลลังก์และที่ดินมรดกของชนชั้นขุนนาง

สถาบันพระมหากษัตริย์

             พระมหากษัตริย์มีสถานะเป็นประมุขแห่งรัฐ และฮาอูโอเอ โฟนูอา (ประมุขสูงสุดของหัวหน้าชนเผ่าพื้นเมืองของตองกา) พระมหากษัตริย์ของตองกาสืบราชสมบัติผ่านทางสายพระโลหิต พระมหากษัตริย์พระองค์ปัจจุบันคือสมเด็จพระราชาธิบดีอะโฮเออิตู อูนูอากีโอโตงา ตูกูอาโฮ ตูปูที่ 6 ส่วนมกุฎราชกุมารพระองค์ปัจจุบันคือเจ้าชายเซียโอซิ มานูมาตาองโก อาลาอีวาฮามามา โอ อะโฮเออิตู คอนสแตติน ตูกูอาโฮ พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่สำคัญซึ่งสามารถใช้พระราชอำนาจได้โดยพระองค์เองนั้นได้แก่ การดำรงสถานะเป็นจอมทัพของประเทศ การเรียกประชุมรัฐสภา การยุบสภา การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี (จากการเลือกของรัฐสภา) การแต่งตั้งประธานรัฐสภา (จากการแนะนำของรัฐสภา) การแต่งตั้งผู้ว่าการเขตการปกครองฮาอะไปและวาวาอู (ตามการแนะนำของนายกรัฐมนตรี) รวมถึงการเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ

ฝ่ายนิติบัญญัติ

             สภานิติบัญญัติตองกา (ตองกา: Fale Alea) เป็นระบบสภาเดี่ยว ประกอบไปด้วยสมาชิกทั้งสิ้น 26 คน โดยมาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งสิ้น 17 คนและมาจากการเลือกตั้งกันเองของขุนนางอีก 9 คน หน้าที่ของสภานิติบัญญัติตองกาหรือฟาเลอาเลอานั้นมีหน้าที่ในการตรากฎหมาย การตรากฎหมายจะมีการพิจารณากันทั้งสิ้น 3 รอบ หากผ่านการลงคะแนนทั้งสามครั้งจะส่งถวายพระมหากษัตริย์เพื่อลงพระปรมาภิไธย เมื่อผ่านทุกกระบวนการแล้วจึงประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ นอกจากนี้แล้วยังมีหน้าที่ในการกำหนดมูลค่าการเก็บภาษีของประชาชน การกำหนดงบประมาณ การแก้ไขรัฐธรรมนูญและการถอดถอนคณะองคมนตรี รัฐมนตรี ผู้ว่าการเขตการปกครอง (ฮาอะไปและวาวาอู)และผู้พิพากษา
             สมาชิกสภานิติบัญญัติมีวาระการดำรงตำแหน่งทั้งสิ้น 4 ปี การเลือกตั้งในตองกาจะแบ่งเขตการเลือกตั้งออกเป็น 17 เขตเลือกตั้งสำหรับตัวแทนของประชาชน และอีก 9 เขตเลือกตั้งสำหรับขุนนาง โดยในแต่ละเขตการปกครองมีจำนวนเขตการเลือกตั้งดังนี้
             1. ตองกาตาปู เขตการเลือกตั้งสำหรับตัวแทนประชาชน 10 เขต เขตละ 1 คน สำหรับตัวแทนขุนนางมี 1 เขต เขตละ 3 คน
             2. เออัว เขตการเลือกตั้งสำหรับตัวแทนประชาชน 1 เขต เขตละ 1 คน สำหรับตัวแทนขุนนางมี 1 เขต เขตละ 1 คน
             3. ฮาอะไป เขตการเลือกตั้งสำหรับตัวแทนประชาชน 2 เขต เขตละ 1 คน สำหรับตัวแทนขุนนางมี 1 เขต เขตละ 2 คน
             4. วาวาอู เขตการเลือกตั้งสำหรับตัวแทนประชาชน 3 เขต เขตละ 1 คน สำหรับตัวแทนขุนนางมี 1 เขต เขตละ 2 คน
             5. นีอูอาส เขตการเลือกตั้งสำหรับตัวแทนประชาชน 1 เขต เขตละ 1 คน สำหรับตัวแทนขุนนางมี 1 เขต เขตละ 1 คน

ฝ่ายบริหาร

             อำนาจของฝ่ายบริหารในตองกาอยู่ที่นายกรัฐมนตรี พระมหากษัตริย์เป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามการแนะนำของรัฐสภา นายกรัฐมนตรีมีวาระในการดำรงตำแหน่ง 4 ปี นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ถวายคำแนะนำแด่พระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งรัฐมนตรีประจำกระทรวงต่างๆ โดยคณะรัฐมนตรีจะแต่งตั้งจากสมาชิกในรัฐสภาและสมาชิกนอกรัฐสภาได้ไม่เกิน 4 คน ปัจจุบันประเทศตองกามีกระทรวงทั้งสิ้น 15 กระทรวง นายกรัฐมนตรีตองกามีหน้าที่เป็นผู้นำคณะรัฐบาล ผู้พูดหลักในสภานิติบัญญัติ เสนอแนะการแต่งตั้งผู้ว่าการเขตต่อพระมหากษัตริย์และการบริหารราชการแผ่นดิน

พรรคการเมือง

             พรรคการเมืองในประเทศตองกาพรรคแรกก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1994 โดยกลุ่มนิยมประชาธิปไตยคือพรรคประชาชน (People's party) ซึ่งในระยะเวลาต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคสิทธิมนุษยชนและการเคลื่อนไหวทางประชาธิปไตย (Human Rights and Democracy Movement - HRDM)[60] พรรคการเมืองมีส่วนในการเลือกตั้งในตองกาครั้งแรกในการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. 1996 ในปี ค.ศ. 2005 สมาชิกพรรคบางส่วนของพรรค HRDM ได้ร่วมกันก่อตั้งพรรคประชาธิปไตยประชาชน หลังจากปี ค.ศ. 2005 เป็นต้นมา มีการก่อตั้งพรรคการเมืองเพิ่มขึ้นอีก 3 พรรค คือ พรรคการสร้างชาติอย่างยั่งยืน (Paati Langafonua Tu'uloa) ที่ก่อตั้งในปี ค.ศ. 2007 พรรคแรงงานประชาธิปไตยตองกา (Tongan Democratic Labor Party) ซึ่งก่อตั้งโดยกลุ่มข้าราชการในปี ค.ศ. 2010 และพรรคประชาธิปัตย์แห่งหมู่เกาะมิตรภาพ (Democratic Party of the Friendly Islands) ซึ่งก่อตั้งในปี ค.ศ. 2010 ปัจจุบันตองกามีพรรคการเมืองรวมทั้งสิ้น 5 พรรค
             จากการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. 2010 พรรคการเมืองทุกพรรคได้ที่นั่งในรัฐสภารวมกัน 12 ที่นั่งจากทั้งสิ้น 17 ที่นั่งที่ประชาชนเลือกผู้แทนของตน โดยผลการเลือกตั้งในครั้งนั้นมีดังนี้

ชื่อ ชื่อ
ภาษาตองกา
ชื่อ
ภาษาอังกฤษ
จำนวนสมาชิก
ในรัฐสภา
ความ
เปลี่ยนแปลง
พรรคประชาธิปัตย์
แห่งหมู่เกาะมิตรภาพ
Paati Temokalati 'a e 'Otu Motu 'Anga'ofa Democratic Party of the Friendly Islands
12
+ 12
พรรคประชาธิปไตยประชาชน
-
People's Democratic Party
0
- 2
พรรคแรงงานประชาธิปไตยตองกา
-
Tongan Democratic Labor Party
0
0
พรรคการสร้างชาติอย่างยั่งยืน Paati Langafonua Tu'uloa Sustainable Nation-Building Party
0
0
พรรคสิทธิมนุษยชนและ
การเคลื่อนไหวทางประชาธิปไตย
-
Human Rights and Democracy Movement
0
- 4

             ตองกาเป็นประเทศหนึ่งในแปซิฟิกใต้ที่มีพื้นดินอุดมสมบูรณ์ เศรษฐกิจของตองกายังคงพึ่งพาสินค้าเกษตรเป็นหลัก สินค้าออกที่สำคัญและทำรายได้อันดับ 1 คือ ฟักทอง เนื้อมะพร้าวตากแห้ง สินค้าอื่น ๆ จากมะพร้าว วานิลลา และพืชประเภทรากไม้ต่างๆ สำหรับอุตสาหกรรมที่ทำรายได้เข้าประเทศเป็นอันดับที่ 2 ได้แก่ การท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ. 2548 การส่งออกฟักทองลดลงกว่า 1,000 ตัน และเกษตรกรไม่ได้รับเงินค่าจ้างตรงตามเวลา ด้วยเหตุนี้ ผู้แทนการค้าตองกาจึงได้พยายามแสวงหาตลาดใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเกาหลีใต้
             ตองกายังคงพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ การท่องเที่ยว และเงินจากแรงงานในต่างประเทศ (remittances) ซึ่งมีอัตราร้อยละ 20 ของ GDP ปัจจุบัน ประชากรชาวตองกากว่าครึ่งหนึ่งอาศัยอยู่ในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และสหรัฐอเมริกา ประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือที่สำคัญ คือ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์
             ตองกาได้จัดตั้งธนาคารแห่งชาติชื่อว่า The Reserve Bank โดยแยกหน้าที่จาก Bank of Tonga เพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งทำให้ภาพรวมทางเศรษฐกิจโดยทั่วไปดีขึ้นมาก ปัญหาด้านการเงิน คือ ชาวตองกาได้รับการปล่อยสินเชื่อจากธนาคารน้อยมาก เนื่องจากมีกลไกการควบคุมอัตราดอกเบี้ยที่เข้มงวด ประเทศที่มีความสำคัญทางการค้าของตองกา คือ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยเฉพาะญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งสินค้าออกที่ใหญ่ที่สุดของตองกา ส่วนสินค้าเข้าของ ตองกาส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำพวกอาหารตองกาไม่มีทรัพยากรแร่ธาตุที่สำคัญ แต่มีเขตเศรษฐกิจจำเพาะทางทะเลที่กว้างใหญ่ ซึ่งเหมาะแก่การประมงน้ำลึก อย่างไรก็ดี ในปี พ.ศ. 2517 ตองกาได้พัฒนาโครงการสำรวจแหล่งน้ำมันในทะเล และในปัจจุบันได้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นด้วย
             ตองกาได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2548 โดยมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากองค์กรเอกชน Oxfam ว่า ตองกาจะเสียผลประโยชน์อย่างมหาศาลจากข้อกำหนดในการเป็นสมาชิก ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเกษตรกรและธุรกิจขนาดเล็กในประเทศ

             ประชากรตองกาใช้ภาษาตองกาเป็นภาษาหลักประจำชาติ ซึ่งมีความคล้ายคลึงเป็นอย่างมากกับภาษานีอูเอ ประชากรของตองกาทางตอนเหนือจะพูดภาษาตองกาต่างสำเนียงกับประชากรทางตอนใต้ นอกจากนี้ประชากรส่วนใหญ่ในตองกาสามารถใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารได้ ทั้งนี้เนื่องจากเอกสารทางราชการส่วนใหญ่ตีพิมพ์ทั้งในภาษาตองกาและภาษาอังกฤษ


         ขอบคุณเว็บไซต์  http://th.wikipedia.org/wiki/ประเทศตองกา
<< Go Back