<< Go Back

           1. องค์การการค้าโลก (World Trade Organization:WTO) มีวิวัฒนาการมาจาก แกตต์ (General Agreement on Tariffs and Trade) ซึ่งเป็นความตกลงที่เกิดขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อันเป็นช่วงที่ประเทศต่าง ๆ ประสบปัญหาจากสงคราม ต้องการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคมโลก จึงได้มีการจัดตั้งองค์การสหประชาชาติ (United Nations) เพื่อดูแลด้านการเมือง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก(IBRD/WB) เพื่อดูแลการเงิน ทางด้านการค้านั้นได้มีความพยายามที่จะตั้งองค์การการค้าระหว่างประเทศ (International Trade Organization : ITO) เพื่อจัดระเบียบการค้าของโลก จึงได้มีการร่างความตกลงเพื่อจัดตั้งองค์การดังกล่าวขึ้น รวมอยู่ในกฎบัตรฮาวานา (Havana Charter) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่รวมทั้งเรื่องกฎระเบียบทางการค้าเสรีระหว่างประเทศและองค์การ การค้าระหว่างประเทศไว้ด้วยกัน อย่างไรก็ตาม การก่อตั้ง ITO ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากสภา Congress ของสหรัฐอเมริกาไม่ยอมที่จะให้มีการให้สัตยาบันในนามของสหรัฐอเมริกา จึงส่งผลให้กฎบัตรฮาวานาขาดรัฐมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาเข้าเป็นภาคีสมาชิก เป็นเหตุให้ประเทศอื่น ๆ ไม่เข้าเป็นภาคีสมาชิกไปด้วย คงมีแต่การจัดทำข้อตกลงชั่วคราวขึ้นมาใช้ไปพลางก่อนในระหว่างที่ไม่มีองค์การการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งก็คือ ข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีศุลกากรและการค้า ค.ศ. 1947 (General Agreement on Tariffs and Trade) หรือ แกตต์ (GATT) ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1948 (พ.ศ. 2491)
            2. แกตต์เป็นเพียงกฎเกณฑ์กำกับการค้าระหว่างประเทศ โดยไม่มีกฎหมายและองค์กรระหว่างประเทศรองรับ และมีสมาชิกแรกเริ่ม 23 ประเทศ และมีแต่เพียงสำนักงานเลขาธิการแกตต์ (GATT Secretariat) ทำหน้าที่ควบคุมบริหารงานทั่วไป แกตต์ทำหน้าที่ 3 อย่างพร้อมกัน คือ
                 2.1. เป็นกฎระเบียบทางการค้าระหว่างประเทศ
                2.2. เป็นเวทีเพื่อเจรจาการค้า
                2.3. เป็นเวทีให้ประเทศคู่กรณียุติข้อพิพาทการค้า ในช่วง ระหว่างปี ค.ศ. 1947-1993 (พ.ศ. 2490-2536) แกตต์ได้จัดให้มีการเจรจาการค้าหลายฝ่ายในรูปพหุภาคี เพื่อลดข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคทางการค้าไปแล้ว รวม 8 รอบ รายละเอียดปรากฏใน ตารางที่ 1

            3. การเจรจารอบอุรุกวัย ถือเป็นการเจรจารอบสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อกฎเกณฑ์การค้าโลกมากที่สุด เพราะนอกจากจะมีการเจรจาลดภาษี และอุปสรรคทางการค้า เช่นเดียวกับการเจรจารอบอื่น ๆ ที่ผ่านมาแล้ว ยังได้ขยายขอบเขตการเจรจาเพื่อปรับปรุงกฎเกณฑ์ของแกตต์ที่ได้กำหนดมาเกือบ 50 ปี ให้กระชับรัดกุม และมีความทันสมัยต่อสภาวะการค้าโลกให้น่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น รวมทั้งได้ยกร่างกฎเกณฑ์การค้าในเรื่อง สินค้าเกษตร สิ่งทอ และเรื่องใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีการเจรจาในแกตต์มาก่อน ได้แก่ เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า เรื่องมาตรการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการค้า และเรื่องการค้าบริการ ให้ประเทศสมาชิกได้ถือปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกัน และที่สำคัญที่สุด คือ ประเทศสมาชิกแกตต์จำนวนกว่า 120 ประเทศ ที่เข้าร่วมเจรจาในรอบอุรุกวัย ได้ตกลงที่จะยกฐานะแกตต์ซึ่งเป็นเพียงสัญญาการค้าระหว่างประเทศให้มีฐานะเป็นองค์กรระหว่างประเทศ โดยจัดตั้งองค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) ขึ้นมากำกับดูแลความตกลงต่าง ๆ ที่เป็นผลจากการเจรจาจำนวน 29 ความตกลง ปฏิญญา มติ และบันทึกความเข้าใจของรัฐมนตรีอีก 25 ฉบับ
            4. . องค์การการค้าโลกจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2538 ปัจจุบันมีสมาชิก 153 ประเทศ (ณ เดือนพฤษภาคม 2552) มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ นครเวนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีหน้าที่ที่สำคัญคือ
                 - บริการความตกลงการค้าหลายฝ่ายและพหุภาคีภายใต้WTO โดยผ่านคณะมนตรี และกรรมการต่าง ๆ ตลอดจนดูแลให้มีการปฏิบัติตามพันธกรณี 
                 - เป็นเวทีเพื่อการเจรจาลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศสมาชิกทั้งในรูปของมาตรการภาษีและมาตรการที่มิใช่ภาษีศุลกากร 
                 - เป็นเวทีเพื่อให้สมาชิกหันหน้าเข้าหารือเพื่อแก้ไขข้อขัดแย้งทางการค้าและหากไม่สามารถจัดตั้งคณะผู้พิจารณา (Panel) ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้ข้อเสอนแนะ 
                 - เป็นผู้ดูแลสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศ และจัดให้มีการทบทวนนโยบายการค้าระหว่างประเทศเสมอ 
                 - ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนาในด้านข้อมูล ข้อแนะนำ เพื่อให้สามารถปฏิบัติได้อย่างเพียงพอ ตลอดจนทำการศึกษาประเด็นการค้าที่สำคัญ ๆ 
                 - ประสานงานกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลกเพื่อให้นโยบายเศรษฐกิจที่สอดคล้องกันยิ่งขึ้น


    ขอบคุณเว็บไซต์ http://www.dtn.go.th/dtn/tradeinfo/dtn_wto_evolution.php

<< Go Back