ปะการังฟอกสี ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อสีของปะการังจางลง เป็นตัวบ่งบอกว่าปะการังกำลังเผชิญกับสภาวะกดดัน โดยปกติแล้ว สีของปะการังจะขึ้นอยู่กับชนิดของสาหร่ายเซลล์เดียวที่อาศัยอยู่ตามเนื้อเยื่อของปะการัง ทั้งสองมีความสัมพันธ์แบบพึ่งพากัน ปะการังให้ที่อยู่อาศัยแก่สาหร่ายเซลล์เดียวและปล่อยของเสียออกมาให้สาหร่ายเซลล์เดียวนำไปสังเคราะห์แสง ส่วนสาหร่ายเซลล์เดียวจะให้พลังงานกับปะการัง และช่วยปะการังในการก่อหินปูน เมื่อน้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้นเนื่องจากโลกร้อน ปะการังก็ขับไล่สาหร่ายเซลล์เดียวเหล่านี้ไปจากตัวมันเอง ทำให้ปะการังไม่เจริญเติบโตอย่างที่เคยเป็น เนื่องจากปรากฏการณ์การฟอกสีของปะการังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนผิดปกติ นักวิทยาศาสตร์กว่า 50 คนที่เชี่ยวชาญด้านปะการังของ ARC Centre of Excellence for Coral Reef Studies ได้ออกมาประกาศอย่างไม่เป็นเอกฉันท์ เรียกร้องให้สังคมและรัฐบาลประเทศต่างๆลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ถ้าไม่มีการตั้งเป้าการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ปรากฏการณ์โลกร้อนอาจทำลายแนวปะการังถึงจุดที่ไม่สามารถแก้ไขได้ เมื่อมีคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศมากขึ้น น้ำทะเลที่ละลายคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้นก็จะมีความเป็นกรดสูงกว่าปกติ ปะการังซึ่งมีส่วนประกอบของแคลเซียมคาร์บอเนตก็จะได้รับผลกระทบโดยตรง การลดลงของแนวปะการังก็จะกระทบสัตว์น้ำในระบบนิเวศปะการังโดยปริยาย แนวปะการังมีความสำคัญในทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ตัวอย่างเช่น Great Barrier Reef แนวปะการังนอกชายฝั่งออสเตรเลีย สามารถสร้างรายได้ให้ประเทศออสเตรเลียปีละเกือบ7พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปีจากการท่องเที่ยว การนันทนาการ และการประมง ในขณะเดียวกัน ยังสร้างงานได้ทั้งหมด 65,000 งาน ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป การจับปลามากเกินไป และมลภาวะล้วนทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของแนวปะการังลดลง แม้กระทั่งแนวปะการังไกลจากชายฝั่งออกไปที่ไม่มีมนุษย์ไปรบกวน ยังได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะโลกร้อนขึ้น การฟอกสีของปะการังเกิดขึ้นบ่อยขึ้นในช่วง30ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศไม่ใช่แค่ภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ได้แสดงอานุภาพการทำลายแนวปะการังแล้ว ในช่วงปี 1998-2002 การฟอกสีของปะการังใน Great Barrier Reef เกิดขึ้นในวงกว้างอย่างเห็นได้ชัด นักวิทยาศาสตร์แนะนำว่า ต้องรีบลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทันที ไม่ใช่รออีก 10 หรือ20 ปี และควรกำหนดพื้นที่ที่ห้ามมีการจับปลาเพื่อปล่อยให้ระบบนิเวศได้ฟื้นตัว นอกจากนี้ สัตว์ใหญ่ที่อาศัยอยู่ตามแนวปะการัง เช่น เต่า ปลาฉลาม และพยูน ควรได้รับการคุ้มครองจากการประมงและการค้า ชาวบ้านที่อาศัยตามชายฝั่งก็สามารถช่วยให้แนวปะการังฟื้นตัวได้ โดยการไม่ปล่อยของเสียจากบ้านเรือนและการเกษตรลงในแหล่งน้ำ มิฉะนั้น สาหร่ายจะเจริญเติบโตมาแทนที่ปะการังอย่างรวดเร็ว
ขอบคุณเว็บไซต์ http://www.vcharkarn.com/vnews/125254
|