<< Go Back
            

ภูมิรัฐศาสตร์ หรือ คำว่า Geopolitics ในภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับ ภูมิศาสตร์ในมิติของการเมือง โดย ภูมิรัฐศาสตร์ นั้นเป็นศาสตร์ที่นักการทหารและนักยุทธศาสตร์มีความจำเป็นต้องศึกษา เพราะจากอดีตที่ผ่านตั้งแต่มนุษยชาติได้เริ่มมีอารยะธรรมและก่อสงครามสู้รบกัน ภูมิรัฐศาสตร์ ได้ถูกผนวกไว้ในแนวความคิดของการสู้รบด้วยเสมอ เพียงแต่การรวบรวมขึ้นเป็นศาสตร์เฉพาะนั้น เพิ่งเกิดมาในยุคที่เรียกว่า ยุทธศาสตร์สมัยใหม่ (Modern Strategy) ในช่วงตอนปลายศตวรรษที่ 19
             แนวทางนโยบายต่างประเทศที่พยายามอธิบายและพยากรณ์พฤติกรรมทางการเมือง และขีดความสามารถทางด้านการทหารในแง่ของสภาพแวดล้อมทางกายภาพ ด้วยเหตุนี้ภูมิรัฐศาสตร์จึงเป็นนิยัตินิยมทางประวัติศาสตร์ที่อิงอาศัยภูมิศาสตร์ในระดับต่างๆ ฟรีดริค รัตเซล(1724-1804) ได้เปรียบเทียบรัฐกับอินทรีย์ที่มีชีวิตซึ่งจะต้องขยายพื้นที่ออกไปมิฉะนั้นก็จะต้องตาย สานุศิษย์ของรัตเซล ชื่อ รูดอล์ฟ เจลเลน(1864-1922) ก็ได้ดำเนินรอยตามกระบวนการเปรียบเทียบรัฐกับอินทรีย์นี้โดยกล่าวว่ารัฐเป็นอะไรมากไปกว่าแนวความคิดทางกฎหมาย เจลเลนได้พัฒนากฎเกณฑ์ว่าด้วยรัฐโดยกล่าวว่าเป็น "อินทรีย์ทางภูมิศาสตร์ในเทศะ" และได้ตั้งชื่อกฎเกณฑ์เหล่านี้ว่า"ภูมิรัฐศาสตร์" ไว้ในหนังสือของเขาที่ชื่อ รัฐในฐานะที่เป็นรูปแบบแห่งชีวิตอย่างหนึ่ง (1916) หลักการของภูมิรัฐศาสตร์นี้ถึงแม้จะสร้างทฤษฎีโดยอิงภูมิศาสตร์และมีการนำเสนอในแง่ของการวิเคราะห์เชิงวิทยาศาสตร์ แต่ก็เต็มไปด้วยสิ่งโฆษณาชวนเชื่ออยู่มากมาย เกียรติภูมิของภูมิรัฐศาสตร์เสื่อมเสียไปมากเพราะนักภูมิรัฐศาสตร์อย่างเช่น คาร์ล เฮาโชเฟอร์(1869-1946)มักจะให้การสนับสนุนอุดมการณ์ทางการเมืองหรือนโยบายแห่งชาติอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นการเฉพาะ โดยพวกเขาจะพยายามอธิบายหรืออ้างเหตุผลให้การสนับสนุนในแง่ของการอ้างเหตุผลโดยอิงหลักภูมิศาสตร์ ศัพท์ว่า ภูมิรัฐศาสตร์ นี้ก็ยังอาจจะนำไปใช้เพื่ออธิบายภูมิศาสตร์การเมืองที่พิจารณาในแง่ของโครงสร้างของโลก และรัฐที่เป็นองค์ประกอบของโลก หรืออาจจะใช้หมายถึงการวางแผนนโยบายต่างประเทศในรูปแบบที่นำองค์ประกอบทางภูมิศาสตร์ต่างๆมาใช้เป็นข้อพิจารณา
             นอกจากนี้ในหนังสือภูมิศาสตร์ ยังได้กล่าวถึงการแบ่งประเภทของของภูมิรัฐศาสตร์ได้ 3 ลักษณะดังนี้
             1. มิศาสตร์ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมงเป็นการเน้นในข้อเท็จจริงทางด้านภูมิศาสตร์ กายภาพและภูมิศาสตร์เศรษฐกิจในการเอื้อหรือจำกัดต่อจุดมุ่งหมายทางการเมือง
             2. ภูมิรัฐศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องที่เน้นระหว่างเรื่องภูมิประเทศ พรมแดน สถานที่ตั้งของประเทศ
             3. ทฤษฏีทางด้านภูมิศาสตร์ที่เน้นถึงแนวความคิดทฤษฏีในรูปอุดมคติหรือสิ่งที่ควรจะเป็น หรือสิ่งที่อยากให้เป็นในอนาคต
             ภูมิรัฐศาสตร์ยังมีการศึกษาแพร่หลายไปหลายที่ เช่น ในสหรัฐ ฯ เช่น วิลเลี่ยม กิลพิล (William Gilpin: 1813-1894) ได้เสนอใน แนวความคิดลัทธิขยายอาณาเขตของสหรัฐ ฯ ที่เรียกว่า Manifest Destiny ในปี พ.ศ. 2379 ที่มีการระบุว่าดินแดนบริเวณ ลุ่มแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ คือ "ดินแดนที่เป็นหัวใจ" ของสหรัฐ ฯ และ นครเซนต์หลุยซ์ ควรได้รับการสถาปนาเป็น เมืองหลวงของสหรัฐ ฯ นอกจากนี้ ยังมีนักภูมิรัฐศาสตร์ชาวสหรัฐ ฯ อีกหลายคน เช่น พล.ร.ท. อัลเฟรด เทเยอร์ มาฮาน (Rear Admiral Alfred Thayer Mahan: 1840 - 1914) ผู้ซึ่งมีอิทธิพลต่อแนวความคิด กำลังอำนาจทางเรือ (Marintime Power) ที่ประกอบด้วย กำลังอำนาจทางทะเล (Sea Power) หรือที่ดรียกว่า สมุทธานุภาพ และ กำลังอำนาจกำลังรบทางเรือ (Sea Force Power) หรือที่เรียกว่า นาวิกานุภาพ ที่มีผลต่อแนวความคิดของนักการทหารเรือในปัจจุบัน หรือ นิโคลัส เจ สปีกแมน (Nicholas J. Spykman: 1893 - 1943) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเยลผู้สอนวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เจ้าของ "ทฤษฏีขอบดินแดน" (Rimland Theory) หรือที่เรียกกันในหมู่นักการทหารว่า "ทฤษฏีขอบโลก" ซึ่งเป็นทฤษฏีที่โต้แย้ง ทฤษฏีดินแดนที่เป็นหัวใจ ของ แมคคินเดอร์
             ทฤษฏีดินแดนที่เป็นหัวใจ (Hard Land Theory): ทฤษฏีนี้นำเสนอโดย แมคคินเดอร์ ในปี พ.ศ. 2447 (ค.ศ.1904) ผ่านบทความชื่อ "The Geographical Pivot of History" ต่อสมาคมภูมิศาสตร์แห่งชาติที่กรุงลอนดอน แมคคินเดอร์ ด้วยแนวความคิดว่า พื้นที่ทวีปยุโรปและอัฟริกามีความต่อเนื่องเป็นผืนเดียวกัน และให้ชื่อว่า "เกาะโลก" (world island) โดยเกาะโลกนี้มีจุดสำคัญทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง คือบริเวณดินแดนในแถบยูเรเซีย (Eurasia) (ทวีปเอเชียและยุโรปรวมกัน) และได้กำหนดบริเวณสำคัญที่เรียกว่า "ดินแดนหัวใจ" (Heartland) เริ่มจากทะเลบอลติกและทะเลดำในทางตะวันตกไปจนกระทั่งถึงเขตไซบีเรียในทางตะวันออก และทางเหนือเริ่มจากมหาสมุทรอาร์กติกลงจนถึงเทือกเขาหิมาลัยทางใต้ และรวมส่วนใหญ่ของที่ราบสูงอิหร่านทางตะวันตกเฉียงใต้และที่ราบสูงมองโกเลียทางตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณ ดินแดนหัวใจ นี้กำลังทางเรือจะเข้าได้ยากมาก และลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาล้อมรอบทำถือเป็นชัยภูมิที่ดี นอกจากนี้ยังสามารถเคลื่อนกำลังเข้าไปยึดครองยุโรปตะวันออกและตะวันตก สำหรับดินแดนหัวใจนั้นจะถูกล้อมด้วยทวีปยุโรปและเอเซีย มีประเทศ จีน อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ฯลฯ ล้อมรอบ ซึ่ง แมคคินเดอร์ เรียกดินแดนบริเวณนี้ว่า "ดินแดนรูปวงเดือนริมใน" (Inner Marginal Crescent) และดินแดนถัดมา คือ ทวีปอัฟริกา ออสเตรเลีย อเมริกาเหนือ และทวีปอเมริกาใต้ โดยเรียกบริเณนี้ว่า "ดินแดนรูปวงเดือนริมใน" (Outer, Insular Crescent) นอกจากนี้ แมคคินเดอร์ ได้กล่าวไว้ว่า "Who rules East Europe commands the Heartland, Who rules the Heartland commands the World-Island, Who rules the World-Island commands the World." โดยถอดความเป็นไทยได้ว่า "ใครครองยุโรปตะวันออกผู้นั้นควบคุมใจโลก ผู้ใดควบคุมใจโลกได้ผู้นั้นควบคุมเกาะโลก และ ผู้ใดสามารถคุมเกาะโลกได้ผู้นั้นจะควบคุมโลก"
             นอกจากปัจจัยทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่มีผลทำให้กระบวนการในการกำหนดยุทธศาสตร์ความมั่นคง ยังคงมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลให้เกิดภัยคุมคามในรูปแบบใหม่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เช่น การเกิดขึ้นของโลกาภิวัฒน์ (Globalization) ที่ส่งผลให้เกิดการดำเนินกิจการต่าง ๆ ข้ามชาติ (Transnational) เช่น อาชญากรรมข้ามชาติ การกีดกันทางการค้า ฯลฯ หรือ การเกิดขึ้นของประชาสังคม (Civil Society) ที่ทำให้ความเป็นรัฐชาติ (State-Nation) ถูกท้าทาย หรือ การมีนวัตกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้นจำนวนมากทำให้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต หรือ การความขัดแย้งระหว่างวัฒนธรรม (Clash of Civilization) ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งไปทั่วโลก หรือ เหล่านี้ล้วนแต่ประกอบกันเป็นแนวความคิดแบบก้าวข้ามพ้นสมัยใหม่ (Postmodern) ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสิ่งต่าง ๆ รอบตัวอย่างมากมายจนยากที่จะกำหนดขอบเขตที่ชัดเจนในแต่ละภาคส่วน
             สำหรับประเทศไทยของเรานั้น ภูมิรัฐศาสตร์ ก็ยังมีความสำคัญอยู่เสมอ เพียงแต่ว่าจะมีผู้ที่ทำงานทางด้านความมั่นคงทั้งหลายจะนำปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้มาพิจารณามาน้อยแค่ไหนตามแต่ความถนัดของตน เพราะอย่างไรก็ตามประเทศไทยยังคงต้องตั้งอยู่ ณ ที่เราอยู่ในปัจจุบัน มีเพื่อนบ้านรอบ ๆ เป็น พม่า ลาว เขมร และมาเลเซีย และ มีความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศอาเซียนในระดับที่ดีมีความสัมพันธ์อันดีกับ จีน เวียดนาม และสิงค์โปร์ เพราะฉะนั้นการรักษาสมดุลระหว่างประเทศต่าง ๆ จึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะยังไงก็ตามจีนคงต้องแผ่อำนาจลงมาทางใต้ เพื่อมีเส้นทางออกทะเลทางใต้และป้องกันไม่ให้สหรัฐ ฯ ใช้ ยุทธศาสตร์ปิดล้อมได้สำเร็จ และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงในเรื่องการใช้มาตรการทางการทูตมายาวนาน เราสามารถใช้จุดแข็งในข้องนี้รักษาผลประโยชน์ของชาติไว้ได้ และถ้ามองกันที่ผลประโยชน์ของชาติสูงสุดแล้วส่วนพลังอำนาจทางทหารจะเป็นพลังอำนาจที่คอยสนับสนุนเท่านั้น ส่วนกองทัพไทยกับจีน คาดว่าจะมีการฝึกร่วมกันเร็ว ๆ วันนี้โดยเริ่มจากทางกองทัพเรือครับ เพราะฉะนั้นมุมมองมิติของความมั่นคงไทยและประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกยังมีรากฐานมาจากภูมิรัฐศาสตร์อยู่ดีไม่ว่า สภาวะแวดล้อมจะเปลี่ยนไปอย่างไร

   ขอบคุณเว็บไซต์ http://www.oknation.net/blog/print.php?id=389304

<< Go Back