|
คดีอาญา ได้แก่ คดีที่เกี่ยวกับความผิดและโทษซึ่งกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายอื่น เช่น พระราชบัญญัติต่างๆ ซึ่งมีโทษในทางอาญา
โทษทางอาญา มี 5 สถาน ได้แก่ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ และริบทรัพย์สิน
ในคดีอาญา มีบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ดังนี้
ผู้ต้องหา หมายถึง บุคคลผู้ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิด แต่ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล
จำเลย หมายถึง บุคคลซึ่งถูกฟ้องต่อศาลแล้วโดยข้อหาว่ากระทำความผิด
ผู้เสียหาย หมายถึง บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทน เช่น ผู้แทนนิติบุคคล ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ เป็นต้น
พนักงานอัยการ หมายถึง เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล
พนักงานสอบสวน หมายถึง เจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายให้มีอำนาจและหน้าที่ในการสอบสวน เช่น เจ้าพนักงานตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่านายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป
โดยปกติคดีอาญาจะเริ่มจากการที่ผู้เสียหายแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจโดยกล่าวหาว่ามีผู้กระทำผิด และการกระทำนั้นเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ซึ่งการกล่าวหานั้น ผู้เสียหายมีเจตนาให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ (เรียกว่า คำร้องทุกข์) เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจรับแจ้งเหตุแล้วจะสืบสวนและสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานจัดทำเป็นสำนวนคดี เมื่อพนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเสร็จก็จะสรุปสำนวนการสอบสวน แล้วมีความคิดเห็นทางใดทางหนึ่งประกอบสำนวน ในบางกรณีผู้เสียหายจะเลือกฟ้องคดีต่อศาลเองโดยตรงก็ได้
การประกันตัวในชั้นศาลมี 2 ช่วง
ช่วงแรก เมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการนำตัวผู้ต้องหามาขอฝากขังต่อศาลและศาลอนุญาตให้ขัง ซึ่งถือว่าผู้ต้องหาอยู่ในอำนาจควบคุมของศาลแล้ว ช่วงที่สอง ช่วงที่ศาลประทับฟ้องของโจทก์ ผู้ต้องหามีสถานะเป็นจำเลยซึ่งต้องถูกควบคุมตัวอยู่ในอำนาจของศาล
ดังนั้น หากผู้ประกันประสงค์จะขอให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา หรือ จำเลยก็จะต้องยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวระหว่างสอบสวนหรือระหว่างพิจารณา แล้วแต่กรณี
กำหนดเวลาที่ศาลอนุญาตให้ประกัน ดังนี้
ชั้นสอบสวน มีกำหนดเวลาเท่ากับระยะเวลาที่ศาลอนุญาตให้ฝากขังจนกระทั่งมีการฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี ชั้นพิจารณาของศาล สัญญาประกันใช้ได้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
เมื่อผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกควบคุมตัวโดยศาล ผู้ประกันสามารยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวโดยใช้หลักประกัน คือ การใช้หลักทรัพย์เป็นประกัน หรือ การใช้บุคคลเป็นประกัน
หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการขอประกันตัว ควรสอบถามเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของศาลเท่านั้น
1. ฟ้องที่ศาลใด พิจารณาว่าความผิดเกิดขึ้นในเขตศาลใด หรือจำเลยมีที่อยู่ หรือถูกจับในเขตศาลใด หรือพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนในเขตศาลใด ศาลนั้นมีอำนาจพิจารณาคดี
2. คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา คือ คดีที่การกระทำผิดอาญาเป็นเหตุให้ผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย หรือค่าทดแทน หรือเรียกให้คืน หรือใช้ราคาทรัพย์ที่ผู้เสียหายต้องเสียไปจาการกระทำผิดอาญานั้น จะฟ้องจำเลยต่อศาลซึ่งพิจารณาคดีอาญา โดยมีคำขอส่วนแพ่งรวมอยู่ในคำฟ้องอาญา
3. วิธีการอ่านคำฟ้อง เมื่อได้รับสำเนาคดีคำฟ้อง ควรตรวจดูคำฟ้องดังนี้ ศาลที่ฟ้อง วัน เดือน ปี ที่ฟ้อง ชื่อโจทก์และจำเลย จำนวนโจทก์และจำเลย ข้อหาหรือฐานความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด
4. ข้อควรปฎิบัติเมื่อศาลประทับฟ้อง หากจำเลยจะสู้คดีควรปฎิบัติ ดังนี้ หากศาลมีคำสั่งขังจำเลย จำเลยสามารถยื่อคำร้องขอประกันต่อศาล ทั้งนี้ไม่ว่าจำเลยจะได้รบอนุญาตให้ประกันตัวในชั้นสอบสวนหรือชั้นฝากขังหรือไม่ก็ตามท ดำเนินการหาทนายความเพื่อช่วยเหลือจำเลยให้การดำเนินคดีต่อไป ตรวจดูสำนวนการไต่สวนมูลฟ้อง และสิ่งที่โจทก์ยื่นเป็นพยานหลักฐาน
5. ชั้นพิจารณาคดี การพิจารณาและสืบพยานในศาล จะกระทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลย โดยศาลจะอ่านและอธิบายคำฟ้องให้จำเลยฟัง และถามจำเลยว่ากระทำความผิดจริงหรือไม่ แล้วจดคำให้การจำเลยไว้ กรณีจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษาคดีโดยไม่ต้องสืบพยานต่อไปก็ได้ เว้นแต่คดีที่อัตราโทษอย่างต่ำให้จำคุกตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปหรือโทษสถานหนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงจึงจะพิพากษาลงโทษจำเลย กรณีจำเลยให้การปฏิเสธ ศาลจะดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยต่อไป โดยศาลจะนัดสืบพยานโจทก์ก่อนเสร็จแล้วจึงให้นัดสืบพยานจำเลย หลักจากสืบพยานทั้งสองฝ่ายเสร็จสิ้นแล้วศาลจะนัดฟังคำพิพากษา
โจทก์มีหน้าที่ต้องมาศาลทุกนัด หากไม่มา ศาลต้องยกฟ้อง เว้นแต่ศาลเห็นว่าโจทก์ไม่มาศาลโดยมีเหตุอันสมควร ศาลจะสั่งเลื่อนคดีไปก็ได้ หากจำเลยไม่มาศาลตามกำหนดนัดหรือตามหมายเรียก (กรณีจำเลยได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว) ศาลจะออกหมายจับจำเลยและปรับนายประกันในทางปฏิบัติแล้วหากศาลไม่แน่ใจว่าจะจับจำเลยได้ เมื่อใดก็จะจำหน่ายคดีชั่วคราว จนกว่าจะได้ตัวจำเลยมาพิจารณาคดีต่อไป
คดีอาญาโจทก์มีหน้าที่ต้องนำพยานเข้าสืบก่อนจำเลยเสมอ และเมื่อโจทก์สืบพยานเสร็จแล้ว จำเลยจึงนำพยานเข้าสืบต่อไป ก่อนสืบพยานโจทก์และจำเลยมีสิทธิแถลงเปิดคดี และหลังสืบพยานเสร็จแล้วโจทก์และจำเลยมีสิทธิแถลงปิดคดีได้ ในระหว่างพิจารณา ถ้าศาลเห็นว่าไม่จำเป็นต้องสืบพยานหรือทำการอะไรอีก จะสั่งงดพยานหรือการนั้นเสียก็ได้ คำพิพากษาของศาลอาจแยกเป็นพิพากษายกฟ้อง หรือพิพากษาลงโทษ
|