<< Go Back

ประวัติการกสิกรรมของโลก
           การกสิกรรม หมายถึงการเพาะปลูกพืชหรือการนำพืชมาปลูก เพื่อใช้ประโยชน์ในการบริโภค หรือใช้สอยนั้น เชื่อกันว่าเกิดขึ้นตั้งแต่มนุษย์เริ่มรู้จักการตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่ง ก่อนยุคประวัติศาสตร์ ที่เรียกว่า นีโอลิทิค (neolithic age) เมื่อประมาณ 10,000 ปีก่อน ค.ศ. มาแล้ว เมื่อกล่าวถึงประวัติ หรือการพัฒนาการของการกสิกรรม ซึ่งถือได้ว่าเป็นอารยธรรมสำคัญอย่างหนึ่งของมนุษย์ นั้นอาจจะแบ่งออกเป็นยุคต่างๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ๆ จากหลักฐานทางโบราณคดี และทางประวัติศาสตร์อื่นๆ ได้ดังนี้

การกสิกรรมในยุคโบราณ
           ในยุคที่มนุษย์เริ่มมีอารยธรรม ซึ่งเชื่อกันว่าเกิดขึ้นครั้งแรกในตะวันออกใกล้ คือในดินแดนที่เรียกว่าเมโสโปเตเมีย ซึ่งแปลว่าดินแดนระหว่างแม่น้ำสองสายคือยูเฟรติส และไตกริส (ประเทศอิรัคและอิหร่านในปัจจุบัน) ถือได้ว่าได้มีการ กสิกรรมเป็นหลักแหล่งเป็นแห่งแรก (ประมาณ 8,000 ปีก่อน ค.ศ.) พบว่ามีการปลูกพืชจำพวกให้เมล็ดเป็นอาหาร และมีอายุเก็บเกี่ยวในปีเดียวเช่น ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวฟ่าง และถั่วชนิดต่างๆ ซึ่งเชื่อว่ามีการคัดเลือกมาจากพันธุ์ป่า และนำมาปลูก ส่วนพืชจำพวกไม้ผลนั้น ยังมีการไปเก็บเกี่ยวจากป่าจนกระทั่งเมื่อประมาณ 4,000 ปีก่อน ค.ศ. จึงได้มีการปลูกเป็นสวนขึ้นได้แก่ อินทผาลัม แอปเปิ้ล สาลี่ ท้อ เชอร์รี่ มะเดื่อ เป็นต้น การเกษตรดังกล่าวได้ขยายผลไปสู่ดินแดนข้างเคียงคือ ซูเมเรียน บาบิโลเนียน (มีสวนลอยแห่งกรุงบาบิโลน) อัสสิเรียน ซาลดีน ตลอดจนถึงอิยิปต์ เป็นต้น นอกจากนั้นยังปรากฏร่องรอยของระบบการชลประทาน ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้นอีกด้วย
กรรมวิธีในการเพาะปลูกพืชนั้นสามารถเห็นได้จากภาพวาด หรือแกะสลักบนผนังหินของประสาท และวิหารต่างๆ ของชาวอิยิปต์โบราณ (รูปที่ 1.1) ซึ่งมีอายุอยู่ในราว 3,500 ปี ก่อน ค.ศ. โดยในยุคนั้นชาวอิยิปต์รู้จักใช้น้ำชลประทาน การระบายน้ำ ใช้เครื่องมือในการเพาะปลูก เช่น จอบ ไถด้วยการใช้แรงสัตว์ เก็บเกี่ยวข้าวด้วยเคียวซึ่งทำจากโลหะ นอกจากนั้นยังรู้จักการถนอมอาหารในรูปแบบต่างๆ เช่น หมัก ดอง ทำแห้ง รมควัน ใส่เกลือ รู้จักการอบขนมปัง ทำเครื่องนุ่งห่มและของใช้จากเส้นใยของพืช เช่น จากหญ้าปาไปรัส เป็นต้น สกัดน้ำมันจากละหุ่ง ใช้สมุนไพรในการรักษาโรค ผลิตเครื่องเทศ ตลอดจนเครื่องสำอางจากพืช เป็นต้น อารยธรรมของอิยิปต์ดังกล่าวข้างต้นนี้ได้ยืนหยัดยาวนานถึง 35 ศตวรรษ จนกระทั่งชาวโรมันเข้าครอบครองดินแดนอิยิปต์เมื่อราว 3 ปี ก่อนเริ่มต้นคริสตศักราช อย่างไรก็ตามอิทธิพลของอารยธรรมอิยิปต์ดังกล่าวได้กระจายไปสู่ส่วนอื่นๆ ของโลก และถือเป็นแบบฉบับของการเกษตรในยุคต่อๆ มา

ประวัติกสิกรรมของประเทศไทย
           การกสิกรรมของประเทศไทย เชื่อว่ามีมานานตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์มาแล้ว ทั้งนี้เนื่องจากว่าดินแดนที่เป็นคาบสมุทรอินโดจีนนี้ มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณธัญญาหารมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่าเมื่อประมาณ 10,000 ปีที่ผ่านมานั้นมีมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เช่นในบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เลย หนองคาย นครพนม อุบลราชธานี เป็นต้น รู้จักบริโภคอาหารชนิดต่างๆ มากกว่า 100 ชนิดแล้ว มีหลักฐานการปลูกข้าวที่บ้านโนนนกทา จังหวัดขอนแก่น เมื่อ 6,000 ปี และภาพเขียนที่ผาแต้ม ที่อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี แสดงการปลูกข้าวในพื้นที่น้ำขังและมีการควบคุมน้ำ มีการเลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ควาย ไก่ กับมีเครื่องมือจับปลาใหญ่ในแม่น้ำโขง ส่วนที่จังหวัดอุดรธานีพบแหล่งอารยธรรมโบราณบ้านเชียง ซึ่งรู้จักเลี้ยงหม่อนไหมและกันชาสำหรับทอผ้าใช้ก่อนประเทศจีนถึง 1,000 ปี ทั้งยังมีเครื่องปั้นดินเผาที่มีลวดลายสวยงาม นอกจากนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวยังพบการถลุงเหล็ก ในอิสานตอนใต้หลายแห่งเพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเกษตร เช่น ไถหัวโลหะที่ใช้ลากจูงด้วยสัตว์เลี้ยง เป็นต้น เป็นการแสดงให้เห็นว่าอารยธรรมของชุมชนโบราณในแถบนี้มีมานานไม่แพ้แหล่งอารยธรรมในยุคเดียวกันของอิยิปต์โบราณดังได้กล่าวมาแล้วตอนต้น ครั้นมาในช่วงระหว่าง 6,000-1,200 ปี มีการสร้างเมืองสร้างอาณาจักรมากขึ้นมีการกสิกรรม และเลี้ยงสัตว์เป็นหลักแหล่งมากขึ้น เช่น อาณาจักรขอม จำปา และเมืองโบราณของไทยหลายแห่ง โดยได้รับอิทธิพลทางด้านอารยธรรม และศาสนาจากอินเดียและทางด้านเศรษฐกิจ การค้าและการกสิกรรมจากจีน อิทธิพลของอาณาจักรขอมได้แผ่ความเจริญมาทางภาคอีสาน และภาคกลาง เช่น อาณาจักรทวาราวดี ซึ่งมีหัวเมืองสำคัญต่างๆ เช่น อู่ทอง นครชัยศรี อู่ตะเภา จันเสน กำแพงแสน เสมา เป็นต้น ได้กลายเป็นศูนย์กลางการค้า ที่สำคัญมีสินค้าจำพวกสมุนไพรที่ได้จากป่าเป็นหลัก ได้แก่ พริกไทย ดีปลี กระวาน กานพลู เป็นต้น มีหลักฐานปรากฏว่าหลายหัวเมืองรู้จักการขุดคูชักน้ำเพื่อการกสิกรรม ในช่วงดังกล่าวนั้นได้มีอาณาจักรใหม่ๆ เกิดขึ้นในอีกหลายส่วนของประเทศและอาณาจักรเก่าก็มีการล่มสลายจากสาเหตุหลายประการ เช่น การเกิดโรคระบาด ผลิตผลทางการเกษตรไม่ได้ผลและการสงคราม อาณาจักรใหม่ที่เกิดขึ้นและมีความสำคัญในยุคต้นประวัติศาสตร์ไทย เมื่อประมาณ 800 ปีที่ผ่านมาคืออาณาจักรสุโขทัยสมัยพ่อขุนรามกำแหง

แนวโน้มของการพัฒนาการกสิกรรมประเทศไทยในอนาคต
           จากประวัติความเป็นมาของการเกษตร หรือกสิกรรมของประเทศไทย จะเห็นได้ว่ามีการพัฒนาตามยุคตามสมัยตามเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ และสังคมภายในประเทศในระยะแรกๆ และตามการเปลี่ยนแปลงของภายนอกประเทศ ในระยะหลังๆ ซึ่งเกิดจากการที่มีการติดต่อทำมาค้าขาย ระหว่างประเทศมากขึ้น อิทธิพลจากภายนอกเหล่านั้น มีผลต่อทิศทางการพัฒนาการเกษตรของไทย ในปัจจุบันนี้ค่อนข้างมาก
ปัจจุบันความสำนึกในเรื่องของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมเป็นกระแสใหม่ที่ทั่วโลกได้เล็งเห็นความสำคัญ เนื่องจากเห็นว่าเป็นอนาคตแห่งความอยู่รอดของประชาคมชาวโลก ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยต้องมีการทบทวนในระดับนโยบายของชาติด้วย ดังจะเห็นได้ว่าในแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติตั้งแต่ฉบับที่ 6 เป็นต้นมานั้น ได้บรรจุสาระของการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นตามลำดับ ทิศทางการพัฒนาต่างๆ ของโลกในปัจจุบันนี้ และในศตวรรษหน้าจะเป็นไป ในการจัดการระบบนิเวศน์ให้เกิดความยั่งยืน ดังปรากฏอยู่ในแผนปฏิบัติการที่ 21 (Agenda 21) จากการประชุม The Earth Summit ของสหประชาชาติที่กรุงริโอเดอจาเนโร ประเทศ บราซิล เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2535 ซึ่งถือเสมือนเป็นแผนแม่บทของโลก ในการสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้น ระหว่างสิ่งแวดล้อมกับการพัฒนา เรื่องนี้เป็นแนวโน้มที่สำคัญ ที่จะเป็นจุดเปลี่ยนของการผลิตทางการเกษตรในศตวรรษที่ 21 (เริ่มปี ค.ศ.2000) ซึ่งจะมีผลต่อประเทศไทยด้วยในยุคที่การติดต่อสื่อสารระหว่างประเทศต่าง ๆ ในโลกเกิดขึ้นได้อย่างไม่มีพรมแดนหรือที่เรียกว่าายุคโลกาภิวัฒน์ (globalization) และการค้าเสรีที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศต่างๆ
นอกจากปัญหาดังกล่าวข้างต้นนั้นแล้ว การเกษตรในประเทศไทยยังมีปัญหาอื่นๆ อีก เช่น การเพิ่มของประชากรและมีการขยายตัวของชุมชน พื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ทางการเกษตรได้ลดลงไป เพื่อการสร้างสิ่งสาธารณูปโภค และการอุตสาหกรรมต่างๆ ความยากจนของเกษตรกร ทำให้เป็นหนี้เป็นสินมากขึ้นเรื่อยๆ เกษตรกรต้องสูญเสียที่ดินทำกิน การขยายตัวทางภาคอุตสาหกรรม และบริการที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตร ทำให้อาชีพทางการเกษตรของประเทศ จะมีสัดส่วนที่ลดลงไปเรื่อยๆ จากเดิมที่เคยมีถึงร้อยละ 80 จะลดลงเหลือประมาณร้อยละ 50-60 ในไม่กี่ทศวรรษนี้ อย่างไรก็ตามภาคเกษตรยังคงเป็ฯภาคที่สำคัญที่สุดต่อไปอีกนานเนื่องจากต้องผลิตอาหารเลี้ยงประชากรของประเทศเป็นสำคัญ แต่คงจะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบจากเดิม ซึ่งหากจะประมวลถึงสถานการณ์ต่างๆ แล้วมีแนวโน้มที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงดังนี้ คือ

     1) มีการแบ่งเขตเกษตรกรรมจำเพาะ ตามความเหมาะสมของสภาพแวดล้อม เช่น การแบ่งเขตเกษตรเศรษฐกิจ เขตส่งเสริมการเกษตร เป็นต้น จัดทำขึ้นโดยรัฐซึ่งจะช่วยในเรื่องการควบคุมการผลิต คุณภาพ จัดความช่วยเหลือ และการจัดการอื่นๆ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
     2) การปรับปรุงระบบเกษตรให้มีการใช้พื้นที่ที่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การปลูกพืชหลายชนิดลงในพื้นที่เดียวกัน โดยใช้ระบบการปลูกพืชแบบต่างๆ การเกษตรผสมผสาน การใช้ระบบวนเกษตร เป็นต้น ซึ่งจะเหมาะสมกับเกษตรกรรายย่อย ที่มีพื้นที่การเกษตรไม่มากนัก จะลดความเสี่ยงจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ ่จะตอบสนองต่อผู้บริโภคภายในประเทศ
     3) การใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่สูงขึ้น โดยการใช้ทรัพยากรอย่างระมัดระวัง และประหยัดไม่เกิดความเสื่อมโทรม หรือสูญสิ้นไปโดยเร็วและไม่ก่อให้เกิดมลภาวะในกลุ่ม นี้ได้แก่ผู้ผลิตที่เป็นเกษตรกรรายใหญ่ ที่อาจจะอยู่ในรูปของบริษัทดำเนินการธุรกิจทางการเกษตร มีพื้นที่ขนาดใหญ่ ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานสากล ส่งเป็นสินค้าออกไปยังตลาดต่างประเทศ ทั้งที่เป็นวัตถุดิบ และสินค้าสำเร็จรูปจากโรงงานอุตสาหกรรมเกษตรต่างๆ
     4)การปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ชนิดใหม่ๆ ซึ่งเกิดจากการศึกษาค้นหาประโยชน์จากพืช และสัตว์ในท้องถิ่นซึ่งมีความหลากหลาย (หากไม่ถูกทำลายไปก่อน) มาใช้ในทางการเป็นยารักษาโรค สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช สารเสริมรสอาหาร เป็นต้น ควบคู่กับการศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีคุณค่าทางวิทยาการ และถูกมองข้ามไปเนื่องจากกระแสของเทคโนโลยี จากภายนอกเข้ามามีอิทธิพลเป็นอย่างมากในช่วงการพัฒนาการเกษตรในหลายทศวรรษที่ผ่าน     

     5) การพัฒนาทางเทคโนโลยี ที่อาศัยการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ เช่น พันธุวิศวกรรม (genetic engineering) เป็นต้น ดังนั้นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการเกษตรยังต้องมีการพัฒนาต่อไปอีกเรื่อยๆ ทั้งจากพื้นฐานความรู้เดิมและพื้นฐานความรู้ใหม่ๆ อันเกิดจากการค้นคว้าวิจัยที่ก้าวไปข้างหน้า อย่างไม่มีที่สิ้นสุดของนักวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ
     6) จะมีการรวมกลุ่มในทางการค้า และเศรษฐกิจจากประเทศต่างๆ ในโลกมากขึ้น เพื่อใช้อำนาจต่อรองและแข่งขันระหว่างกลุ่ม ดังนั้นการร่วมมือที่จะเกิดขึ้นระหว่างภูมิภาคจะมีมากขึ้น เช่น การรวมตัวของประเทศในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจในภาคใต้ระหว่างประเทศไทย พม่า จีน และลาว หรือในระดับภูมิภาคของโลก เช่น Asia-Pacific Cooperation Conference (APEC), The European Union (EU), Asian Free Trade Agreement (AFTA) เป็นต้น ที่มีนโยบายทางการค้าการผลิตที่ต้องกระทำร่วมกัน เป็นต้น ดังนั้น แนวทางการผลิตต่างๆ จึงไม่เพียงแต่ขึ้น อยู่กับนโยบายของประเทศเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป

          การพัฒนาทางการกสิกรรม ในยุคต่อไปนี้จึงต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายๆ ประการ ทั้งทางทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม นโยบายการค้า นโยบายการผลิต ที่มีเป้าหมายทั้งการอยู่รอดของเกษตรกร และเศรษฐกิจของประเทศ นับว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายนักวิชาการเกษตรของไทย ที่จะต้องคำนึงถึงทิศทางเหล่านี้ สำหรับการพัฒนาการเกษตรต่อไป

 

ที่มาของภาพ : http://www.thaigreenmarket.com/webboard_topic.php?mid=872

<< Go Back