<< Go Back

ทรัพยากร

       หมายถึง สิ่งที่มีอยู่รอบๆ ตัวเรา สามารถนำมาใช้ในการอุปโภคและบริโภค มาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและใช้ประโยชน์ในการดำรงชีพอย่างมีความสุขและสะดวกสบาย ในทุกวันนี้เราสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ก็ด้วยการนำทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ต่อการดำรงชีพ ทั้งในด้านปัจจัยสี่ ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม อาหาร เสื้อผ้า และยารักษาโรค อีกทั้งเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ นานา ดังนั้นเราจึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากร เพื่อจะได้นำทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดมาใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด

ทรัพยากร แบ่งตามคุณสมบัติได้ 2 ประเภท คือ
         
1. ทรัพยากรที่ใช้แล้วไม่หมดไป หมายถึง ทรัพยากรธรรมชาติที่เมื่อใช้แล้วยังสามารถเกิดขึ้นทดแทนใหม่ได้ เช่น ป่าไม้หรือสัตว์ป่า หรือที่ใช้แล้วยังมีจำนวนคงเดิม เช่นแสงแดด หรือมีอยู่เป็นจำนวนมากจนใช้ไปอย่างไรก็ไม่มีวันหมดไปจากธรรมชาติ แม้ว่าทรัพยากรธรรมชาติประเภทนี้ใช้แล้วไม่หมดไป แต่บางประเภทใช้แล้วก็เสื่อมสภาพหรือใช้ประโยชน์อีกได้ไม่เต็มที่ เช่น ดิน หรือไม่สามารถนำมาใช้ได้อีก เช่น น้ำ ถ้าใช้แล้วไม่บำรุงรักษาย่อมเสื่อมสภาพลง ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้
         
2. ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป หมายถึง ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในจำนวนจำกัด เมื่อใช้ไปแล้วหมดไปเลย  หรือกว่าจะเกิดขึ้นใหม่ได้ต้องใช้เวลานาน

แรงจูงในการใช้ทรัพยากร
แรงจูงใจให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคตัดสินใจใช้ทรัพยากร ได้แก่
         
1.ความต้องการของมนุษย์ ทั้งความต้องการในปัจจัยสี่ ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่มนุษย์ขาดไม่ได้ และความต้องการในความสะดวกสบาย ที่มนุษย์นอกจากต้องการปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิตแล้ว มนุษย์ยังมีต้องการความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิต   มนุษย์จึงต้องผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ รถยนต์ ตู้เย็น เป็นต้น
           
2.การเพิ่มขึ้นของประชากร มนุษย์ทุกคนมีความต้องการในปัจจัยสี่และสิ่งที่อำนวยความสะดวกสบาย เมื่อมีมนุษย์เพิ่มขึ้น ความต้องการดังกล่าวก็ต้องเพิ่มขึ้นตาม สิ่งเหล่านี้เป็นแรงจูงใจให้ผู้ผลิตนำทรัพยากรที่มีจำนวนจำกัดมาผลิตเป็นสินค้าและบริการเพื่อสนองความต้องการของมนุษย์

             3. การจัดสรรทรัพยากร จากการที่ทรัพยากรมีจำกัดหรือขาดแคลน   ทำให้ผู้ผลิตต้องจัดสรรทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือ ต้องตัดสินใจว่าจะนำทรัพยากรไปผลิตอะไร ผลิตเท่าไร ผลิตอย่างไร และใครเป็นผู้บริโภค จึงจะเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดและได้ประโยชน์สูงสุด

การวางแผนการใช้ทรัพยากร
         ทุกวันนี้มนุษย์เริ่มตระหนักถึงปัญหาของทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมากมายในโลกเริ่มจะหมดไป เนื่องจากการใช้ทรัพยากรเหล่านั้นอย่างสุรุ่ยสุร่าย ไม่ประหยัด ทั้งแร่ธาตุ ป่าไม้ สัตว์ป่า ทั้งสัตว์บก สัตว์น้ำ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ จนสัตว์หรือพืชบางสายพันธ์สูญพันธุ์ไปแล้ว ดังนั้น เราควรมีการวางแผนการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่า ดังนี้

          1.การนำไปใช้ควรคำนึงถึงประโยชน์ของทรัพยากรที่จะนำไปใช้ให้ถูกวัตถุประสงค์ เช่น  การใช้น้ำในการเพาะปลูก ใช้ในการบริโภค ไม่ควรนำน้ำสะอาดที่ใช้ดื่มไปล้างภาชนะ หรือการเผาพื้นที่ป่าเพื่อมาใช้ในการปลูกพืชไร่ เป็นต้น

          2.การเลือกใช้ทรัพยากรประเภทต่างๆ ให้มีสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อให้การดำเนินอยู่นั้นใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด เช่น การเพาะปลูก ครัวเรือนต้องตัดสินใจในการเลือกใช้น้ำและที่ดินอย่างประหยัด ไม่ให้มีการทิ้งที่ดินให้ว่างเปล่ามากเกินไป หรือใช้น้ำเกินความจำเป็นเพื่อป้องกันความสูญเปล่าทางด้านทรัพยากร เป็นต้น หลักการสำคัญในการเลือกใช้ทรัพยากรที่กล่าวมานี้ คือหลักความคุ้มค่านั่นเอง

         3.การวางแผนเป็นอย่างดีก่อนเริ่มการผลิต ก่อนทำการผลิต ผู้ประกอบการจำเป็นต้องหาข้อมูลต่างๆ มาอย่างครบถ้วน   ทั้งในด้านความต้องการของตลาด ปัจจัยการผลิต แหล่งที่มาของปัจจัยการผลิต การขนส่งปัจจัยการผลิต เงินทุน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน แรงงาน เครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิต การตลาด การขนส่งผลผลิตออกสู่ตลาด และปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในการผลิต และแนวทางแก้ไข เพื่อลดการผิดพลาดในการผลิต

         4.การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยในด้านการผลิต ในทุกวันนี้มีเทคโนโลยีและหลักวิชาการใหม่ๆถูกค้นพบอย่างมากมาย เทคโนโลยีเหล่านั้นสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วและไม่มีข้อจำกัดเหมือนใช้แรงงานจากบุคคล อีกทั้งสะดวก รวดเร็ว และมีความผิดพลาดน้อยมาก ดังนั้นการนำเอาเทคนิคและเครื่องจักรมาช่วยในการผลิตจะช่วยลดการสูญเสีย และสามารถผลิตสินค้าออกสู่ท้องตลาดได้เร็วและมีจำนวนมาก เมื่อเหลือใช้ภายในประเทศยังสามารถส่งเป็นสินค้าส่งออกไปขายยังต่างประเทศกอบโกยเงินตราเข้าประเทศอีกทางหนึ่งด้วย         

         5.การหาทรัพยากรอื่นมาทดแทนหรือนำกลับมาใช้ใหม่เมื่อเราใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด  ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไปหรือเกิดขึ้นทดแทนได้แต่ต้องใช้เวลายาวนาน แต่จะใช้อย่างประหยัดเท่าใดแต่สักวันหนึ่งทรัพยากรธรรมชาติเหล่านั้นต้องหมดไปการจะใช้ทรัพยากรธรรมชาติเหล่านั้นให้ยาวนาน  จำเป็นต้องหาทรัพยากรอื่นทั้งจากธรรมชาติหรือประดิษฐ์ขึ้นมาใช้ประโยชน์ทดแทน แม้ว่าลักษณะของการใช้อาจจะไม่สะดวกสวยงาม  หรือใช้ประโยชน์ได้ไม่ดีเท่าของเดิมก็ตามจะเป็นการช่วยยืดอายุการใช้ทรัพยากรนั้นไว้ใช้ในยามจำเป็นและได้ยาวนานยิ่งขึ้น

นอกจากหาทรัพยากรอื่นมาทดแทนแล้ว การนำทรัพยากรที่ใช้ไปแล้วกลับมาใช้ใหม่ โดยการทำความสะอาด หรือแปรรูปไปใช้ประโยชน์ ยังเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างฉลาดและลดการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ลงไปอีกวิธีหนึ่ง

                             

                                                                                                ที่มาของภาพ : http://www.thaibizchina.com/thaibizchina/th/china

                                                                                          -economic-business/result.php?SECTION_ID=442&ELEMENT_ID=9588


<< Go Back