ธัญพืช (Cereals)
ธัญพืชเป็นพืชอาหารหลักของประชากรโลก คุณค่าทางอาหารส่วนใหญ่คือ คาร์โบไฮเดรตในรูปของแป้งซึ่งมีอยู่เป็นปริมาณ
มากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักแห้ง เป็นแหล่งของพลังงานแก่ร่างกายมนุษย์
นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า เมื่อประมาณ 30,000 ปี ที่แล้วในยุคพาลีโอลิทิค (Paleolithic) มนุษย์ในยุคเริ่มแรกได้เก็บรวบรวม
เมล็ดพืชวงศ์หญ้าชนิดต่างๆ ที่เติบโตตามธรรมชาติมาใช้เป็นอาหาร ต่อมาจึงมีการคัดเลือกชนิดและพันธุ์ที่มีรสชาติถูกปาก และสามารถ
นำมาปลูกตลอดจนขยายพันธุ์เพิ่มเติมต่อไปอีกได้ มีการค้นพบหลักฐานว่า ตั้งแต่เมื่อ 8,000-7,000 ปีก่อนคริสตศักราชมีการปลูกข้าว
สาลีและข้าวบาร์เลย์บริเวณดินแดนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์และแม่น้ำยูเฟรติส ในยุคนีโอลิทิค (Neolithic) เมื่อประมาณ 7,000-3,000 ปีก่อนคริสตศักราช ถูกพบว่ามีการเก็บรวบรวมพันธุ์ป่าของข้าว ข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวฟ่าง และมิลเลท ในหลายพื้นที่ของโลก และยังพบถิ่นกำเนิดและแหล่งปลูกเริ่มแรกของธัญพืชชนิดต่างๆ หลายแห่ง และมีหลักฐานว่ามีการปลูกธัญพืชบริเวณรอบ
ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เอเชียตะวันออก และยุโรปตะวันตก เมื่อประมาณ 4,000 ปี ก่อนคริสตศักราช
การเก็บเกี่ยวพันธุ์ข้าวหรือธัญพืชชนิดต่างๆ มารับประทานเป็นอาหาร ทำให้มีการรู้จักคัดเลือกชนิด ขนาด และรสชาติของ
ธัญพืชซึ่งเป็นที่ต้องการ และทำให้มีการพัฒนาระบบและวิธีการปลูกธัญพืชขึ้นทดแทนการออกไปเก็บจากต้นที่เจริญเติบโตตามธรรม
ชาติมาหลายชั่วอายุคน ซึ่งนำมาถึงการพัฒนาระบบชลประทานในการปลูกข้าวหรือธัญพืชชนิดต่างๆ ด้วย
ธัญพืชที่มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Cereals ซึ่งมีรากศัพท์มาจากคำว่า Ceres ซึ่งเป็นเทพเจ้าของโรมันผู้ซึ่งรับประทานขนมปังเป็นอาหาร ในยุคโบราณบริเวณที่เป็นแหล่งอารยธรรมปลูกข้าวสาลีเป็นปริมาณมาก ได้แก่ อียิปต์โบราณ ดินแดนเมโสโปเตเมีย และอาณาจักร
โรมัน พื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งอารยธรรมปลูกข้าวได้แก่ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก ส่วนพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งอารยธรรมการ
ปลูกข้าวโพดเมื่อสี่พันปีมาแล้ว คือ อาณาจักรอินคาและอาณาจักรแอซเทคในอเมริกากลาง (Grubben and Partohardjono, 1996)
ธัญพืชยังมีบทบาทต่อประเพณีและวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ซึ่งทำการปลูกพืชนั้นๆ มาตั้งแต่โบราณจนกระทั่งถึงปัจจุบัน โดยการ
ทำพิธีเคารพบูชาเทพเจ้าแห่งธัญพืช ในทุกประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการทำพิธีขอพรจากเทพเจ้าให้สามารถปลูกข้าวและ
เก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวได้เป็นปริมาณมาก โดยในประเทศไทยมีการนับถือแม่โพสพเป็นเทพธิดาแห่งข้าว และมีการทำขวัญข้าวในช่วง
ข้าวตั้งท้องหรือออกรวง โดยนำเครื่องสังเวยไปวางไว้ในนาข้าว และนำธงสามอันไปปักไว้ในนา แล้วนำน้ำมนต์ที่ได้จากพิธีวันออก
พรรษา มาพรมที่ต้นข้าวเพื่อให้ข้าวออกรวงได้ง่าย
ภาพนาข้าวแบบขั้นบันไดทางภาคเหนือ
ของประเทศไทยในฤดูฝน (Pramkaew, 1996)
ภาพนาข้าวแบบขั้นบันไดทางภาคเหนือ
ของประเทศไทยในฤดูหนาวก่อนเก็บเกี่ยว (Pramkaew, 1996)
- ชาวอินโดนีเซียมีความเชื่อว่า ข้าวทุกเมล็ดมีวิญญาณสิงสถิตอยู่ และเชื่อว่าพระวิษณุเป็นเทพเจ้าแห่งน้ำและความอุดมสมบูรณ์ ทรงเนรมิตให้ข้าวกำเนิดขึ้นในโลก และพระอินทร์เป็นผู้สอนมนุษย์ให้ปลูกข้าว
- ชาวศรีลังกาทำพิธีปลูกข้าวตามกำหนดเวลาที่หมอดูทำนายไว้
- ชาวญี่ปุ่นต้องบริโภคข้าวทุกเมล็ดไม่ให้เหลือติดก้นถ้วยหรือก้นจาน
ในประเทศจีนตอนใต้และบางส่วนของอินเดีย มีการทักทายกันด้วยคำว่า “กินข้าวแล้วหรือยัง” ซึ่งอาจมีพื้นฐานมาจากการ
ขาดแคลนข้าวในการบริโภคประจำวันมาก่อน (ชาญ, 2536)
ในประเทศสหรัฐอเมริกามีวันขอบคุณพระเจ้า (thanksgiving Day) เพื่อรำลึกถึงการเก็บเกี่ยวข้าวสาลีครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา ของกลุ่มคนที่อพยพมาจากทวีปยุโรป ซึ่งมีการฉลองเทศกาลนี้เป็นประจำทุกปี (Grubben and Partohardjono, 1996)
ธัญพืชเป็นพืชอาหารหลักที่นิยมรับประทานกันทั่วโลก เนื่องจากลักษณะรูปร่างน่ารับประทาน มีขนาดเล็ก ให้พลังงานสูง ปลูกง่าย การเก็บเกี่ยวและการเก็บรักษาง่าย การขนส่งสามารถทำได้สะดวก จำหน่ายได้ง่าย และสามารถขนส่งทางเรือซึ่งใช้ระยะ
เวลานาน โดยที่คุณภาพของธัญพืชแทบไม่เปลี่ยนแปลงไป
ในการปลูกธัญพืชต้องคำนึงถึงสภาพภูมิอากาศ สภาพภูมิประเทศ ชนิดของดิน ปริมาณน้ำ ค่า pH ในดิน และปริมาณแร่ธาตุต่างๆ ภายในดินให้มีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของธัญพืชแต่ละชนิด
การจำแนกธัญพืช
ในการจำแนกธัญพืชซึ่งเป็นที่นิยม คือ การจำแนกโดยพิจารณาจากสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งจำแนกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
1. ธัญพืชเมืองร้อน สามารถเจริญได้ดีในสภาพอากาศร้อนชื้น ซึ่งมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่า 20 องศาเซลเซียส ที่บริเวณเส้นรุ้ง 0-30 องศาเหนือและใต้ ได้แก่
- ข้าว (rice) เจริญเติบโตได้ดีในสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้น มีทั้งพันธุ์ที่เจริญเติบโตบนที่สูงและตามไหล่เขาซึ่งต้องการน้ำน้อย พันธุ์ที่เจริญในสภาพน้ำท่วมขังลึกไม่เกิน 1 เมตร และพันธุ์ที่เจริญในน้ำท่วมลึกถึง 3 เมตร
- ข้าวโพด (corn) สามารถเจริญเติบโตได้ดีเกือบทั่วโลกยกเว้นทวีปแอนตาร์กติกา นิยมปลูกมากในเขตร้อนชื้น แต่สามารถ
เจริญเติบโตในเขตภูมิอากาศแบบอบอุ่นได้ ตั้งแต่เส้นรุ้งที่ 55 องศาเหนือและใต้
- ข้าวฟ่าง (sorghum) เจริญเติบโตได้ดีที่อุณหภูมิ 27-30 องศาเซลเซียส และปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้งได้
2. ธัญพืชเมืองหนาว สามารถเจริญได้ดีในสภาพอากาศอบอุ่นถึงหนาว อุณหภูมิเฉลี่ยระหว่าง 10-20 องศาเซลเซียส บริเวณเส้นรุ้งที่ 30-60 องศาเหนือ และใต้ ได้แก่
- ข้าวสาลี (wheat) ปลูกมากใน รัสเซีย สหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย แคนาดา และประเทศในทวีปยุโรป
- ข้าวบาร์เลย์ (barley) เจริญเติบโตได้ดีในเขตอุณหภูมิต่ำแถบตะวันออกใกล้ ยุโรป เอเชีย อเมริกาเหนือ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เมื่อนำมาปลูกในเขตร้อนต้องเลือกสายพันธุ์ที่ค่อนข้างทนร้อน และปลูกบนภูเขาสูง หรือที่สูงซึ่งมีอุณหภูมิ
ต่ำกว่าพื้นราบ
- ข้าวโอ๊ต (oats) ปลูกมากในเขตอากาศแบบอบอุ่นและแบบเมดิเตอร์เรเนียน
- ข้าวไรน์ (rye) ปลูกมากในยุโรปตะวันออกและรัสเซีย สามารถทนทานต่อสภาพอากาศร้อนและหนาวได้
ที่มา - http://www.baanjomyut.com/library_2/extension-2/cereals/index.html
|