<< Go Back 

ความเป็นมา

      จากความต้องการฟิ้นฟูเศรษฐกิจและสังคมโลกภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง  และความต้องการตรงกันที่ต้องการแก้ไขปัญหาอุปสรรคการค้าของโลก  จึงได้มีการพยายามที่จะจัดตั้งองค์การการค้าระหว่างประเทศ   (International Trade Organization : ITO)  เพื่อจัดระเบียบการค้าระหว่างประเทศ  โดยเริ่มแรกได้มีการรวมตัวกันเมื่อปี  ค.ศ.  1947  (วันที่  30  ตุลาคม  2490)  มีประเทศภาคีสมาชิกเริ่มแรก  23  ประเทศ  ได้มีการร่วมประชุม   ณ  องค์การ  สหประชาชาติ  นครเจนีวา  ประเทศสวิตเซอร์แลนด์  เพื่อร่วมกันจัดทำข้อตกลงขึ้นมาใช้ เรียกว่า  "ข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า "  (General  Agreement  on  Tariff  and  Trade : GATT)  ที่ถือได้ว่าเป็นแม่บทของกฏเกณฑ์การค้าระหว่างประเทศ  และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่  1  มกราคม 2491

      ในเดือนพฤศจิการยน  2490  ผู้แทนจาก  56  ประเทศ  ได้ประชุมร่วมกันที่กรุงฮาวานา  ประเทศคิวบา  เพื่อพิจารณาร่างจัดตั้งองค์การการค้าโลก   (International Trade Organization : ITO)  ผู้แทนจาก  53  ประเทศ ได้ลงนามรับรองเอกสารที่บรรจุเนื้อหาของสนธิสัญญาฮานาวา  (The  Havana Charter)  ในเดือนมีนาคม 2491  แต่เนื่องจากสนธิสัญญาดังกล่าวมีปัญหาในเรื่องการให้สัตยาบันจากรัฐบาลประเทศที่ลงนาม ทำให้ไม่สามารถจัดตั้งองค์การการค้าโลก  ( ITO)  ดังนั้นข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (GATT) เท่านั้นจึงเป็นเครื่องมือเกี่ยวกับการค้าโลก  โดยมีวัตถุประสงค์ที่เป็นสาระสำคัญ  ได้แก่  การดำเนินกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการค้าของโลกให้เป็นไปอย่างเสรี  มีพื้นฐานที่มั่นคง  และเปิดเสรีแบบก้าวหน้าเป็นลำดับ  และกำหนดแนวทางส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของบรรดาประเทศภาคีสมาชิก  สำนักงานเลขาธิการแกตต์ (GATT Secretariate)  ทำหน้าที่ในการควบคุมและประสานงานระหว่างประเทศภาคีสมาชิก  ซึ่งต่อมาได้เพิ่มเป็น 145ประเทศ

 

บทบาทหน้าที่ของ GATT
          ข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (GATT) มี 38 มาตรา ประเทศภาคีสมาชิกจะต้องประกาศรับรองความตกลงที่ประเทศภาคีสมาชิกต้องปฏิบัติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่เรียกว่า " Protocol of Provisional Application " ได้่แก่ การทำพิธีสารแห่งความเกี่ยวข้องเฉพาะกาลที่จะปฏิบัติและแก้ไขกฏหมายของแต่ละประเทศภาคีสมาชิกให้สอดคล้องกับความตกลง และกำหนดตารางแสดงข้อลดหย่อนภาษีศุลกากรไว้ว่า จะไม่เก็บภาษีศุลกากรเกินกว่าอัตราที่ได้ผูกพันไว้ ดังนั้น GATT จึงจะต้องมีบทบาทหน้าที่ในการเป็นเวทีสำหรับการเจรจาการค้าระหว่างประเทศภาคีสมาชิก เพื่อแก้ไขปัญหาหรือลดอุปสรรคหรือมาตรการกีดกันทางการค้า และเป็นเวทีไกล่เกลี่ยยุติข้อพิพาท ในกรณีประเทศภาคีสมาชิกมีข้อพิพาททางการค้าระหว่างกัน โดยจะมีการจัดตั้งคณะผู้พิจารณา เพื่อหาข้อสรุปนำเสนอให้คณะมนตรีแกตต์ (GATT Council) ตัดสินขี้ขาด และอาจจะกำหนดมาตรการลงโทษประเทศภาคีสมาชิกที่ฝ่าฝืน

          ในช่วงปี พ.ศ. 2490 - 2536 GATT ได้จัดให้มีการเจรจาการค้าหลายฝ่าย เพื่อลดข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคทางการค้ารวม 8 รอบ รอบสุดท้าย คือ การเจรจารอบอุรุกวัย ซึ่งถือเป็นการเจรจารอบสำคัญ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฏเกณฑ์การค้าโลกมากที่สุด เพราะนอกจากจะมีการเจรจาลดภาษีสินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรม และอุปสรรคทางการค้าแล้ว ยังมีการปรับปรุงกฏเกณฑ์ของ GATT ให้กระชับรัดกุมและทันสมัย สอดคล้องต่อภาวะการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตอย่างมากมาย โดยขยายขอบเขตครอบคลุมถึงการค้าบริการ ทรัพย์สินทางปัญญา และมาตรการลงทุนที่เกี่ยวกับการค้า

          หลังจากแกตต์เปลี่ยนสถานะไปเป็น WTO ประเทศสมาชิกก็ได้มีการปฏิบัติตามความตกลงรอบอุรุกวัยไปแล้วหลายเรื่อง เช่น การลดภาษีสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าเกษตร รวมทั้งการแก้ไขกฏระเบียบต่างๆ

 

 

GATT  กับการค้าโลก

ตามบทบัญญัติของ  GATT  มีหลักการดำเนินงานเพื่อผดุงรักษาให้บรรดาประเทศภาคีสมาชิกปฏิบัติตามข้อตกลง  เช่น

  • การส่งเสริมสนับสนุนให้มีการปฎิบัติต่อชาติอื่นๆอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน  (Most-Favoured  Nation  Treatment  :  MFN)  ประเทศต่างๆจะต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติในการเรียกเก็บภาษีศุลกากรหรือค่าธรรมเนียมหรือใช้มาตรารใดๆกับสินค้าขาเข้า  ไม่ว่าจะเป็นประเทศเล็กหรือประเทศใหญ่
  • การผดุงรักษาไว้ซึ่งความเท่าเทียมกัน  (National  Treatment)  ระหว่างสินค้านำเข้าจากประเทศภาคีสมาชิกกับสินค้าภายในประเทศของตน
  • การคุ้มครองอุตสาหกรรรมภายในประเทศ  จะต้องใช้มาตรการด้านภาษีศุลกากรเท่านั้น  เว้นแต่การดำเนินการนั้นสอดคล้องกับบทบัญญัติของ  GATT
  • ให้มีการผูกพันอัตราภาษีศุลกากร  (Tariff  Binding)  ตามข้อตกลง  หากประเทศภาคีสมาชิกต้องการจะเปลี่ยนแปลงอัตราภาษาีศุลกากรให้ต่างจากที่ผูกพันไว้  จะต้องมีการเจรจากับประเทศคู่การค้า
  • ทำให้เกิดความเป็นธรรมในการค้าระหว่างประเทศ  เช่น  ป้องกันการทุ่มตลาด  การให้การอุดหนุนการส่งออก  ฯลฯ  ถ้ามีการกระทำดังกล่าว  GATT  อนุญาตให้ประเทศภาคีสมาชิกเรียกเก้บค่าธรรมเนียมต่อต้านการทุ่มตลาด  (Anti-Dumping  Duty)  และค่าธรรมเนียมต่อต้านการอุดหนุน  (Countervailing  Duty)  ได้
  • ห้ามจำกัดปริมาณการนำเข้า  เว้นแต่เป็นกรณีสอดคล้องกับข้อยกเว้นของ  GATT  เช่น  เพื่อแก้ไขปัญหาขาดดุลการชำระเงิน  เพื่อคุ้มครองชีวิตหรือพันธุกรรมมนุษย์  สัตว์  พืช  และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ  เป็นต้น
  • สามารถขอผ่อนผันหรือยกเว้นการปฏิบัติตามข้อผูกพันได้  ในกรณีประสบกับปัญหาด้านเศรษฐกิจ  รวมทั้งอนุญาตให้ใช้มาตรการฉุกเฉินในการจำกัดปริมาณการนำเข้า  หากการนำเข้าสินค้านั้นเพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็วจนมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ
  • เปิดโอกาสให้มีการรวมกลุ่มของประเทศต่างๆ  เพื่อให้มีการค้าเสรียิ่งขึ้น  แต่มีเงื่อนไขว่า  มาตรการต่างๆทั้งทางด้านภาษีศุลการกรและมิใช่ภาษีศุลกากร  จะต้องไม่สูงขึ้นกว่าเ้ดิม
  • ให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศกำลังพัฒนา  ในการปฏิบัติตามข้อตกลงของ  GATT  เพื่อช่วยเหลือให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้ดีขึ้น  และยังอนุญาตให้ประเทศภาคีสมาชิกที่พัฒนาแล้วให้สิทธิประโยชน์พิเศษแก่ประเทศกำลังพัฒนา  โดยการยกเว้นหรือลดภาษีศุลกากรสำหรับสินค้านำเข้าจากประเทศกำลังพัฒนา

 

ประเทศภาคีสมาชิกก่อตั้ง  GATT  23  ประเทศ

  1. ออสเตรเลีย  (Australia)
  2. เบลเยี่ยม  (Belgium)
  3. บราซิล  (Brazil)
  4. พม่า  (Myanmar)
  5. แคนาดา  (Canada)
  6. ศรีลังกา  (Ari  Lanka)
  7. ชิลี  (Chili)
  8. จีน  (China)
  9. คิวบา  (Cuba)
  10. สาธารณรัฐเช็ก  (Czech  Republic)
  11. ฝรั่งเศส  (France)
  12. อินเดีย  (India)
  13. เลบานอน  (Lebanon)
  14. ลักเซมเบิร์ก  (Luxembourg)
  15. เนเธอร์แลนด์  (Netherland)
  16. นิวซีแลนด์  (New  Zealand)
  17. นอร์เวย์  (Norway)
  18. ปากีสถาน  (Pakistan)
  19. โรดีเชียใต้  (South  Rhodesia)
  20. ซีเรีย  (Syria)
  21. แอฟริกาใต้  (South  Africa)
  22. สหราชอาณาจักร  (United  Kingdom)
  23. สหรัฐอเมริกา  (United  States  of  America)

    << Go Back