<< Go Back

          คำอนุภาค บางทีเรียกว่า คำเสริม หลักภาษาแนวใหม่ได้กำหนดคำอนุภาคขึ้นต่างไปจากหลักภาษาเดิม คำอนุภาคนี้ในหลักภาษาเดิมจัดอยู่ในคำวิเศษณ์ แต่หลักภาษาแนวใหม่เน้นการสื่อสารโดยเฉพาะภาษาพูด จึงจัดคำพวกหนึ่ง ซึ่งเป็นคำวิเศษณ์ ในหลักภาษาเดิมที่ใช้ภาษาพูด มาเป็นคำอนุภาคหรือคำเสริม เพื่อเน้นเจตนาของผู้พูดเป็นการบอกเล่า สั่ง ถาม ขู่ อ้อนวอน ขอร้อง แนะนำ เชิญชวน บังคับ เป็นต้น
          คำอนุภาคหรือคำเสริมนี้ เป็นการเน้นความให้เด่นชัด เพื่อแสดงเจตนาของผู้พูด มักใช้ในประโยคที่พูดจากันมากกว่าจะใช้ในประโยคที่เป็นภาษาเขียน คำอนุภาคหรือคำเสริมที่เป็นคำลงท้ายประโยคอาจแตกต่างกันไป ตามลักษณะ เจตนา ในการสื่อสารของผู้พูด

          คำอนุภาคแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
          1. อนุภาคที่เป็นส่วนคำลงท้ายประโยค ได้แก่ คำว่า นะ เถอะ หรอก ซิ น่ะ แน่ะ หนอ ละ กระมัง ครับ ค่ะ คะ ไหม หรือ คำเหล่านี้นักภาษาศาสตร์ถือว่าเป็นคำเสริมเข้าไปในประโยค เพื่อเน้นเจตนาของผูพูดว่าต้องการเนื้อความบอกเล่า ขอร้อง สั่ง สงสัย บังคับ อนุญาต คำอนุภาคเหล่านี้ ในตำราหลักภาษาไทยเดิมถือว่าเป็นคำวิเศษณ์ ส่วนคำว่า ไหม หรือ ถือว่าเป็นปฤจฉาวิเศษณ์ เป็นต้น
          ตัวอย่างคำอนุภาคที่เป็นส่วนของคำลงท้าย
               มากับฉันนะ ( ชักชวน )
               มากับฉันเถอะน่า ( ชักชวน )
               ของพวกนี้แม่จะไว้ใส่บาตรน่ะ ( อธิบายแสดงเหตุผล )
               ผมไปก่อนนะ ( ขออนุญาต )
               เดินเร็วๆ ซิ ( คำสั่ง)
               ฝนตกแล้วซิ ( บอกกล่าว)
               ไปเถอะ ( อนุญาต หรือ ชักชวน)
               ขนมอร่อยจังเลย ( เน้นความ)
               ผมไม่เห็นด้วยหรอก ( บอกกล่าว)
               หนูชื่ออะไรจ๊ะ ( ความสุภาพ )
               รถไฟคงมาช้าอีกกระมัง ( คาดคะเน)
          2. อนุภาคที่ไม่ได้เป็นส่วนคำลงท้ายประโยค จะใช้ประกอบคำเพื่อให้คำ หรือความเด่นชัดขึ้น อาจอยู่ต้นประโยค ระหว่างประโยคก็ได้ จะเป็นการเน้นความ เช่น
               คุณนั่นแหละ คุณเลี่ยงได้ก็เลี่ยงเถิด
               ปัญหาน่ะหรือ ผมเสนอให้เก็บไว้ก่อน
               เด็กน่ะน้า ยิ่งตียิ่งดื้อ
              ฉันรู้หรอกว่าเขาไม่ดี
               นั่นแหละ ฉันบอกเธอแล้วก็ไม่เชื่อ
               เถอะน่า เธอก็รู้เอง
               จริงแหละ ถ้าเขาตายพวกเธอก็ลำบาก
               เหรอ ผมไม่รู้เรื่องเลย

          1. ใช้แสดงเจตนาของผู้พูด
                    ไปเดี๋ยวนี้นะ ( สั่ง )
                    ไปเถอะนะลูก ( อนุญาต)
                    ฝนจะตกนะ เอาร่มไปด้วย ( เกลี้ยกล่อม)
          2. ใช้แสดงการถาม
                    เขาจะไปหรือยัง
                    เธอเอามารึเปล่า
          3 ใช้ประกอบคำหรือความให้เด่นชัด
                    พ่อรู้หรอกว่าลูกดีใจมากที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้
                    เด็กนี่น้าทำอะไรก็ไม่ผิด
**ข้อสังเกต **
          คำอนุภาคนอกจากจะมีหน้าที่แสดงเจตนาของผู้พูดแล้ว ยังจะทำหน้าที่คล้ายคำวิเศษณ์ คือ เป็นส่วนประกอบคำให้ชัดเจนอีกด้วย

          https://sites.google.com/site/khalaeachnidkhxngkha/kha-xnuphakh

<< Go Back