1. บทบาทและอิทธิพลของดนตรีในสังคมไทย

          ในชีวิตประจำวันของคนในสังคมไทย ผูกผันอยู่กับ ศิลปะ ตลอดเวลา ดนตรีก็มีอิทธิพลสอดแทรกอยู่ในชีวิตประจำวัน เพราะดนตรีเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก ความคิดจินตนาการของผู้คน จากศิลปินถึงชุมชน ให้เกิดความสนุกสนาน ความซาบซึ้งใจ ความตื่นเต้น ความคึกคักหึกเหิม ในการดำเนินชีวิต ดนตรีจึงมีคุณค่าในสังคมไทย ดังนี้

          1. ดนตรีให้ความสนุกสนาน ผ่อนคลายความเครียด ปลุกเร้าอารมณ์และจิตใจให้มีความสุข มีสุขภาพจิตดี

          2. ดนตรีช่วยเสริมสร้างความสามัคคีของคนในสังคมให้มีความรักชาติ ทำให้ชาติเป็นสังคมที่สงบสุข เช่น เพลงปลุกใจ เพลงชาติไทย

          3. ดนตรีช่วยสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิต สภาพสังคม การดำเนินชีวิตของชุมชนในสมัยต่างๆ เช่น เพลงในน้ำมีปลา – ในนามีข้าว กล่าวถึงความสุข ความอุดมสมบูรณ์ของชาติไทยในกรุงสุโขทัย เพลงเต้นกำรำเคียว บ่งบอกถึงความสนุกสนานของชาวบ้าน ชาวนาในการประกอบอาชีพ เป็นต้น

          4. ดนตรีเป็นเครื่องบรรเลงในพิธีกรรมต่างๆในสังคมไทย มีพิธีกรรมต่างๆมากมายทั้งที่เป็นงานมงคล และการประกอบพิธีกรรมของคนตายที่เรียกว่างานศพ ดนตรีก็มีบทบาทในพิธีกรรมต่างๆของคน ตั้งแต่เกิดจนตาย โดยเฉพาะพิธีกรรมทางศาสนา ทำให้เกิดความศักดิ์สิทธิน่าเชื่อถือ สร้างอารมณ์สะเทือนใจในอารมณ์ได้อย่างดี เช่น เพลงสาธุการ ใช้ในเวลาจุดธูปเทียนบูชาพระ ผู้ฟังจะรู้สึกได้ถึงความขลังความศรัทธา การทำพิธีพืชมงคลก็มีการบรรเลงดนตรีประกอบพิธีกรรมทางพราหมณ์เพื่อความศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกัน

          5. ดนตรีไทยเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทย แสดงให้เห็นว่าไทยเป็นประเทศที่มีศิลปวัฒนธรรม มีความเจริญรุ่งเรืองตลอดมา

          6. ดนตรีไทยเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษสร้างไว้ให้ลูกหลานได้มีเครื่องบันเทิงใจ สมควรที่คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ อนุรักษ์และสืบทอดให้คงอยู่และเจริญรุ่งเรืองต่อไป

องค์ประกอบของดนตรีในแต่ละวัฒนธรรม

     2.1 องค์ประกอบของดนตรีไทย

          ลักษณะสำคัญในองค์ประกอบของ ดนตรีไทยที่แสดงให้เห็นวัฒนธรรมของชาติได้แก่

          1. องค์ประกอบของเครื่องดนตรีและเสียงของเครื่องดนตรี เครื่องดนตรีไทยแบ่งเป็น  4 ประเภท แต่ละประเภทมีลักษณะที่แตกต่างกันตามการเกิดของเสียงเพราะใช้วัสดุในการทำแตกต่างกัน เมื่อนำมาบรรเลงร่วมกันจึงเกิดเป็นวงดนตรีที่ทำให้เกิดบทเพลงที่ไพเราะ

          2. องค์ประกอบของทำนองเพลง เพลงไทยที่มีทำนองเพลงมากมาย หลากหลายมีความแตกต่างกันที่ทำนองทั้งช้าและเร็ว และยังมีเพลงภาษา ซึ่งแต่ละเพลงให้ความรู้สึกและอารมณ์แตกต่างกันไป มีทั้งเพลงเศร้า เพลงรักหวาน เพลงสนุกสนาน และทำนองเพลงที่บงบอกถึงความเป็นเชื้อชาติที่เรียกว่า "เพลงออกภาษา"

          3. องค์ประกอบเรื่องการใช้ศัพท์สังคีต ศัพท์สังคีต คือศัพท์ที่ใช้ในทางการบรรเลงและขับร้อง เพลงไทยมีความหมายเฉพาะในตัวเอง เช่น ทอด เถา ตับ เอื้อน คลอ คลอ (หมายถึงการขับร้องและบรรเลงพร้อมกัน) ทอด (หมายถึงการลดเสียงของการขับร้องหรือบรรเลงเพื่อให้มีการขับร้องหรือบรรเลงต่อด้วยความเหมาะสม) เป็นต้น

          4. องค์ประกอบของดนตรีที่บรรเลงในโอกาสต่างๆ วงดนตรีไทย แบ่งตามลักษณะของเครื่องดนตรี ได้แก่ วงปี่พาทย์ [1] วงเครื่องสาย วงมโหรี และวงดนตรีพื้นบ้านในท้องถิ่น ในแต่ละวงจะมีการบรรเลงที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของโอกาสที่ใช้บรรเลง เช่น วงปี่พาทย์ใช้ประกอบการแสดงโขน ละคร ลิเก วงเครื่องสายใช้บรรเลงในงานแต่งงาน วงปี่พาทย์มอญ นิยมใช้ในการบรรเลงงานศพ วงดนตรีพื้นเมือง และวงดนตรีพื้นบ้าน ก็บรรเลงในโอกาสที่จัดงานในท้องถิ่น ตามเทศกาลต่างๆ เป็นต้น

 

ที่มาของวีดีโอ: http://www.youtube.com/watch?v=k8CC0fXD3c0

          5. องค์ประกอบของบทเพลงที่ใช้ในโอกาสต่างๆ บทเพลงและทำนองเพลงไทยมีเนื้อหาและท่วงทำนอง ตามอารมณ์เพลงที่หลากหลาย เช่นเดียวกับการบรรเลงของวงดนตรี ซึ่งแต่ละบทเพลงจะใช้บรรเลงในโอกาสที่แตกต่างกันตามโอกาสที่เหมาะสม เช่น เพลงมอญร้องไห้ ใช้ขับร้องและบรรเลงในงานศพ เพลงลาวดวงเดือน นิยมขับร้อง และบรรเลงก่อนปิดงาน บทเพลงและทำนองเพลงพื้นบ้านก็สื่อให้เห็นถึงวิถีชีวิตชุมชนและท้องถิ่นเป็นต้น

คุณค่าและความสำคัญของดนตรีไทย

     2.2 องค์ประกอบของดนตรีสากล

          วัฒนธรรมของดนตรีสากลหรือดนตรีตะวันตก มีลักษณะสำคัญทางองค์ประกอบดังนี้

          1. การสร้างตัวโน้ตและสัญญาลักษณ์ทางดนตรี เป็นเครื่องหมายที่ให้ผู้ศึกษาเรียนรู้ทางดนตรี มีความเข้าใจที่จะปฏิบัติเสียงทางดนตรีได้อย่างถูกต้องแบ่งเป็นความหมายของเสียง ระดับเสียงตัวโน้ต ชั้นคู่เสียง บันไดเสียงต่างๆ เครื่องหมายกำหนดจังหวะ กุญแจประจำหลักเสียง เป็นต้น ตัวอย่าง เพลงที่มีเสียงสูงจะใช้บันไดเสียง c major เป็นต้น

          2. องค์ประกอบของเสียง คือลักษณะเฉพาะของเสียงที่ใช้ในการบรรเลงดนตรี ความกว้างของเสียงของเครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงลักษณะที่แตกต่างกันของสียงทำให้เกิดบทเพลงที่ ไพเราะตามลักษณะที่พัฒนาขึ้นมาเป็นวัฒนธรรมดนตรีของสากล

          3. องค์ประกอบด้านโครงสร้างของบทเพลง จะเห็นได้ถึงความแตกต่างในโครงสร้างของบทเพลงของไทยและสากล วัฒนธรรมการขับร้องและบรรเลงเพลงมีความแตกต่างกันเช่น เพลงสากลมีบทเพลงประสานเสียงมีลักษณะของการออกเสียงที่กว้างและลึกกว่าเพลงไทย เป็นความยิ่งใหญ่ของจำนวนเครื่องดนตรีและเสียงของผู้ขับร้อง

          4. องค์ประกอบเรื่องแบบแผนของเพลง บทเพลงสากลมีแบบแผนการบรรเลงหลายประเภท เช่น เพลงประสานเสียง 2 แนว ที่มี การร้องแบบราวด์ (Round) และการร้องแบบ แคนนอน (Canon) เป็นต้น

          ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่า ดนตรีเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินชีวิตของคนในสังคมไทยอย่างจะแยกกันไม่ออก ดนตรีสอดแทรกเข้าไปในการดำเนินชีวิตของคนไทยจนเกิดเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน เรียกว่าวัฒนธรรมและสืบทอดต่อกันมาหลายร้อยปี ดนตรีจึงเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของสังคม

1. วงปี่พาทย์  -  http://www.youtube.com/watch?v=g2UlXG_z5F8