เสียง(Sound) คือ คลื่นตามยาวที่เกิดจากการให้แรงกับแหล่งกำเนิดเสียง เช่น หนังกลอง สายกีตาร์ เป็นต้น และแหล่งกำเนิดเสียงนั้นเกิดการสั่นสะเทือนจากแรง การสั่นสะเทือนนั้นมีพลังงาน และพลังงานถ่ายทอดไปยังตัวกลางรูปแบบต่างๆ เช่น อากาศ น้ำ เป็นต้น เมื่อเกิดการถ่ายทอดพลังงานให้กับตัวกลาง คลื่นเสียงก็จะแผ่กระจายออกไปทุกทิศทางนั่นเอง - แหล่งกำเนิดเสียง - ตัวกลาง - อวัยวะรับเสียง เมื่อเกิดการสั่นจากแหล่งกำเนิด คลื่นเสียงก็จะส่งถ่ายพลังงานไปยังตัวกลางต่างๆ ดังนั้น เราจะพบว่า อัตราเร็วของคลื่นเสียงนั้นจะขึ้นอยู่กับความสามารถของการส่งถ่ายพลังงานของตัวกลาง ทำให้เสียงมีอัตราเร็วที่ต่างกัน ดังตาราง
เสียงเป็นคลื่นกลตามยาว ดังนั้น สมบัติของเสียงจึงมีสมบัติเดียวกับคลื่นกลทุกประการ นั่นคือ เสียงมีสมบัติ 4 ประการ คือ เสียงสะท้อน หรือเอคโค(Echo) เกิดขึ้นจากการสะท้อนกลับของเสียงที่ระยะทางต่างกันมากๆ ซึ่งทำให้เสียงที่สะท้อนกลับมาให้เราได้ยินนั้นเดินทางเข้าสู่อวัยวะรับเสียงของเราเกิด 1/100 วินาที(มนุษย์สามารถแยกแยะคลื่นเสียงที่เข้ามากระทบกับอวัยวะรับเสียงได้ไม่ต่ำกว่า 1/100 วินาที ถ้าคลื่นเสียงเดินทางเข้าสู่อวัยวะรับเสียงต่ำกว่า 1/100 วินาที สมองจะไม่สามารถทำการแยกแยะเสียงออกได้) เสียงก้อง เกิดจากการสะท้อนกลับของเสียงที่ระยะทางต่างกัน และเสียงเดินทางเข้าสู่อวัยวะรับเสียงเร็วกว่า 1/100 วินาที ซึ่งสมองไม่สามารถแยกแยะเสียงที่แตกต่างกันได้ จึงทำให้เราได้ยินเสียงที่มีความถี่เท่าเดิม แต่มีแอมพลิจูดต่างกัน เราจึงได้ยินเสียงเสมือนว่ามีหางของเสียงที่ค่อยลดต่ำลง ซึ่งเสียงก้องหรือเสียงสะท้อนเป็นปัญหาอย่างมากกับการจัดงานหรือการจัดการแสดงเพราะเป็นอุปสรรคกับการรับรู้ของผู้ชม ดังนั้น การแก้ปัญหาเรื่องเสียงสะท้อน และเสียงก้อง คือการลดการสะท้อนที่เกิดขึ้น โดยวิธีการคือทำให้ผิวสะท้อนขรุขระเพื่อให้เกิดการกระจายของการสะท้อน(ทำให้ความเข้มเสียงลดลงจนไม่เกิดนัยในการฟัง) หรือใช้วัสดุที่มีคุณสมบัติดูดซับพลังงานคลื่นได้เช่น ฟองน้ำ กระดาษฟูก ติดไว้กับผิวสะท้อนเพื่อซับพลังงานก็เป็นทางแก้ไขอย่างหนึ่ง นอกจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติแล้ว เรายังสามารถใช้การสะท้อนของเสียงในด้านอื่นๆได้อีกด้วย เช่น สัตว์บางชนิดก็ใช้การสะท้อนของเสียงในการดำรงชีวิต เช่น โลมา ใช้คลื่นเสียงอัลตราโซนิคเพื่อเรียกตัวอื่นมาช่วยล่า ค้างคาวบางชนิดใช้คลื่นอัลตราโซนิคในการตรวจสอบพื้นที่หรือหาอาหาร เป็นต้น นอกจากนี้เรายังสามารถใช้เสียงในทางการแพทย์ เช่น อัลตราซาวด์ โดยใช้คลื่นเสียงอัลตราโซนิคเพื่อใช้ดูลักษณะของอวัยวะภายใน หรือใช้ในการดูลักษณะของเด็กในครรภ์ เป็นต้น การหักเหของเสียง ปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการหักเหของเสียง คือ บางครั้งเราจะได้ยินเสียงฟ้าร้อง โดยไม่ให้ปรากฏการณ์ของท้องฟ้าเลย หรือบางครั้งเราพบเห็นฟ้าผ่า แต่ไม่ได้ยินเสียงเลย การแทรกสอดของเสียง การแทรกสอดของเสียงนั้นมักจะเกิดขึ้นจากแหล่งกำเนิด 2 แหล่งขึ้นไป(ถ้าแหล่งกำเนิดเสียงนั้นมีการปล่อยคลื่นเสียงที่มีคุณสมบัติเหมือนกัน เราจะเรียกว่า แหล่งกำเนิดอาพันธ์ เช่น ลำโพง 2 ข้าง เป็นต้น) ซึ่งการแทรกสอดของเสียงนั้นจะทำให้เกิดการแทรกสอด 2 รูปแบบ คือ การแทรกสอดแบบเสริม กับการแทรกสอดแบบหักล้าง ซึ่งเมื่อเกิดการแทรกสอดแบบเสริมที่จุดใด เราจะเรียกจุดนั้นว่า ปฏิบัพ(Antinode) และเมื่อเกิดการแทรกสอดแบบหักล้างที่จุดใด เราจะเรียกจุดนั้นว่า บัพ(Node) ซึ่งจุดปฏิบัพนั้นจะทำให้เกิดเสียงที่ดังและชัดเจน ในขณะที่จุดบัพจะทำให้เสียงเบาและไม่ชัดเจน ดังนั้น ลักษณะของการแทรกสอดจึงส่งผลให้แต่ละจุดที่รับเสียงนั้นได้รับเสียงที่แตกต่างกัน ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นอุปสรรคต่อการจัดงานสัมมนา หรือจัดการแสดง การเลี้ยวเบนของเสียง เสียงเป็นคลื่นตามยาวที่มีลักษณะของการแผ่กระจายเป็นวงกลมทุกทิศทาง ดังนั้น เมื่อคลื่นเสียงบางส่วนเคลื่อนที่เข้าใกล้กับกำแพงก็จะเกิดการเลี้ยวเบน ดังนั้น เราจึงสามารถได้ยินเสียงบางส่วนได้ ในขณะที่เรายืนอยู่หลังกำแพงซึ่งบังแหล่งกำเนิดไว้ได้นั่นเอง |
|